วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

การถ่ายโอนโรงเรียนนาทรายวิทยาคม

การจัดการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
(การถ่ายโอนโรงเรียนนาทรายวิทยาคม)
ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญ กับการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 16 ฉบับ และด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยครั้งใหญ่ (โกวิทย์ พวงงาม, ม.ป.ป., หน้า 1) นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ยังได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนนี้เอง จึงเป็นหลักประกัน ว่ารัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดบริการ สาธารณะ โดยใช้การกระจายอำนาจเป็นกลไกสำคัญ และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้มีการบัญญัติมาตรา 283 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน และ การคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ (วุฒิสาร ตันไชย, 2551, หน้า 1)
การกระจายอำนาจการปกครอง เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการปกครองประเทศโดยรัฐมอบอำนาจการปกครองบางส่วนให้กับองค์กรปกครองอื่น นอกจากองค์กรของส่วนกลาง เพื่อจัดบริการสาธารณะบางชนิดอย่างอิสระ (Autonomy) สามารถดำเนินการได้เองและไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล (Tuttle) ของส่วนกลาง (นันทวัฒน์ บรมานันท์, 2545, หน้า 19) การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐในระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งลดบทบาทของรัฐในส่วนกลางให้เหลือแต่ภารกิจหลักที่ต้องทำเท่าที่จำเป็น และเพิ่มบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการแทนในกลุ่มงานที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงการดูแลความสงบเรียบร้อย การพัฒนาท้องถิ่นและการจัดบริการสาธารณะ ให้แก่ประชาชนพร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะ การพัฒนาและจัดการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากขึ้น
รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอภิวัฒน์ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คือ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจ ฯ ได้จัดทำประกาศ แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดกรอบแนวคิด เป้าหมาย และแนวทางการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เพื่อให้การกระจายอำนาจบรรลุเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่เป็นแผนที่เบ็ดเสร็จแต่มีกระบวนการที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจ ฯ ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 จนปัจจุบัน ภารกิจกระจายอำนาจของไทยไม่ก้าวหน้ามากนัก เนื่องจากบรรดาเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้านการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การถ่ายโอนการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2548 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 กำหนดเกณฑ์การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกำหนดสัดส่วนการขอรับ ถ่ายโอนสถานศึกษา แยกตามระดับการศึกษาและตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีมติให้โอนสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มติดังกล่าวสวนทางกับความคิดเห็นของสมาคมครูและผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่จึงได้รวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ประท้วงดังกล่าว จึงเพิ่มเติมเงื่อนไขการถ่ายโอน ว่าการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของสถานศึกษา ที่จะต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อหาทางออกที่จะลดผลกระทบ โดยให้เป็นไปในลักษณะของความสมัครใจของ 2 ฝ่าย คือ ความสมัครใจของผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาฝ่ายหนึ่ง กับคณะกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐานอีกฝ่ายหนึ่ง หากทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เต็มใจที่จะรับ และมีความพร้อมที่จะรับ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีความพร้อมที่จะรับถ่ายโอน และโรงเรียนพร้อมที่จะถ่ายโอนไป จึงจะสามารถถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดไว้ว่าการถ่ายโอนจะต้องมีการระบุชื่อโรงเรียนที่ชัดเจน และต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยในปีการศึกษา 2549 จะต้องยื่นเรื่องขอรับการประเมินความพร้อมภายใน 120 วันก่อนวันเปิดภาคเรียน คือ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2549 (กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, 11 มกราคม 2549) ในส่วนของ การแสดงความสมัครใจให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) และหลังจากนั้น วันที่ 17 มกราคม 2549 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) โดยในหมวด 3 (1) กำหนดให้รับข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นเป็นสมาชิก และมาตรา 70 (1) คงสิทธิการเป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้เช่นเดิม (พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549, 17 มกราคม 2549, หน้า 8)
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่เน้นย้ำถึงเรื่อง การหาความสมัครใจของโรงเรียน กระบวนการหาความสมัครใจ และการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ถึงเดือน เมษายน พ.ศ. 2549 ต่อมาระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2549 ได้เกิดมีกรณีปัญหาโรงเรียนที่สมัครใจถ่ายโอนมีจำนวนมากเกินสัดส่วนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือที่เรียกว่า โรงเรียนบัญชี 2 และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สกถ.) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งดำเนินการถ่ายโอนโรงเรียนที่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่าโรงเรียนบัญชี 1 ไปก่อน ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 จึงได้มีการถ่ายโอนโรงเรียนบัญชี 1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นครั้งแรกจำนวน 31 โรง และในเดือนเดียวกันนี้ มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การดำเนินการถ่ายโอนสถานศึกษาจึงหยุดลงชั่วคราว เนื่องจากเกิดการปฏิรูปการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และมีการตั้งรัฐบาลใหม่ พณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการคนใหม่ คือ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน ซึ่งมีนโยบายถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้ดำเนินการถ่ายโอนโรงเรียนบัญชี 1 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มเติม อีกจำนวน 25 โรง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 (สพฐ, ศธ 04006/2104, ลว 20 พฤศจิกายน 2549) และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 อีกจำนวน 15 โรง (สพฐ, ศธ 04006/13, ลว 5 มกราคม 2550) รวมโรงเรียนบัญชี 1 ที่ถ่ายโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 70 โรง หลังจากนั้นก็มีการถ่ายโอนเพิ่มอีกเป็นระยะ ๆ
ในส่วนของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งเดียวในจังหวัดลำพูน ที่สมัครใจถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเหตุผลและปัญหาหลายประการ เช่น จำนวนนักเรียนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ในระยะเวลา 5 ปี (2544-2548) (สารสนเทศ, 2548, หน้า 10) จำนวนครูและบุคลากรลดลงไปตามเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และครูสอนไม่ตรงตามวิชาเอก ทำให้ผลการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) รอบแรก ในปีการศึกษา 2547 มาตรฐานด้านครู มาตรฐานที่ 24 และผู้เรียนในมาตรฐานที่ 5 มีระดับคุณภาพ “ปรับปรุง” (สมศ., 2547) นอกจากนั้นงบประมาณ ที่โรงเรียนได้รับจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนรายหัวตามจำนวนนักเรียนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำและการพัฒนาการศึกษา ประกอบกับร้อยละ 80 ของผู้ปกครองเป็นเกษตรกร และมีฐานะค่อนข้างยากจน อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลชายขอบของตัวจังหวัด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระดมทรัพยากร เพื่อนำเงินมาจ้างครูให้เพียงพอและการพัฒนาสถานศึกษาให้ดีขึ้น โรงเรียนได้รับการอนุมัติให้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 (สพฐ, ศธ 04006/13, ลว 5 มกราคม 2550) มีการถ่ายโอนภารกิจ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 และถ่ายโอนบุคคลในวันที่ 16 เมษายน 2550 พร้อมกันกับการถ่ายโอนทรัพย์สิน การถ่ายโอนทั้ง 3 ด้านได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. 2550
เมื่อมีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ปัญหาที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานทั้งในส่วนของหลักสูตร และการจัดการเรียน การสอน ดังที่ สโรช สันตะพันธุ์ (2549) ได้กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนได้ผ่านกระบวนการถ่ายโอนมาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วระยะหนึ่ง ควรจัดให้มีการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประเมิน คุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษารวมทั้งผลผลิตที่จะเกิดขึ้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิผลของการศึกษาซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของรูปแบบการบริหาร คุณลักษณะขององค์การ และบรรยากาศการทำงานแบบมืออาชีพ (ชาญชัย อาจินสมาจาร, 2548, หน้า 26) ประสิทธิผลทางการศึกษาสูงสุด ต้องการรูปแบบการบริหารและบรรยากาศในองค์การที่เหมาะสม การบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในยุคปฏิรูปการศึกษา ผู้บริหารจำเป็นต้องพัฒนาองค์กรจากรูปแบบของการบริหารที่มีประสิทธิผล แม้ว่าในหลักการบริหารสถานศึกษาจะมีทฤษฎีการบริหารอย่างหลากหลายที่บ่งบอกลักษณะของวิวัฒนาการทางการบริหารของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่สถานศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงตามหลักการ แนวคิด การบริหารจัดการ สถานศึกษาแนวใหม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งสู่ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในที่สุด
โครงสร้างองค์การเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินงานของ องค์การหรือของหน่วยงาน เปรียบเสมือนโครงกระดูกในของร่างกาย มีส่วนโดยตรงที่ทำ ให้การดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ ขององค์การเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันทั้งระบบ ทำให้ทุกส่วนสามารถร่วมกันดำเนินงานไปด้วยกันได้ดี และเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อุทัย บุญประเสริฐ, 2544) จึงถือได้ว่าโครงสร้างองค์การเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่สำคัญเป็นอย่างมากส่วนหนึ่ง เมื่อมีถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการเปลี่ยนต้นสังกัด กฎหมาย ระเบียบและวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 97 ยังไม่เคยจัดการศึกษาและยังไม่มีการจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการบริหารและการจัดการศึกษา (กมล สุดประเสริฐ, 2544, หน้า 9) สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างการบริหารให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงต้องจัดทำคู่มือคุณภาพ เพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง บทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งคู่มือการปฏิบัติงานไว้ สำหรับผู้บริหารการศึกษาและสถานศึกษานำไปใช้เป็นคู่มือในการนิเทศ กำกับ ติดตาม และผู้ปฏิบัติงานซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่เพื่อทดแทนครูที่ย้ายออกไป สามารถนำคู่มือทั้งสองไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
จากประเด็นปัญหาและความสำคัญของการบริหารสถานศึกษาที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการบริหารและจัดการให้เกิดการขับเคลื่อนไป ภายใต้ภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมีการบริหารสถานศึกษารูปแบบใหม่ที่ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลงตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์จัดการศึกษา ซึ่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา ต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนซึ่งไม่แน่ใจว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดีหรือไม่ อย่างไร จึงมีความจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนารูปแบบการบริหารงานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนฯ โดยใช้วิธีวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR: Participatory Action Research) เพื่อให้ได้รูปแบบการบริหารที่เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของโรงเรียน ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจแก่บุคลากร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพ แก้ข้อห่วงใยข้างต้น นอกจากนั้นยังเป็นการลดปัญหาและความไม่แน่ใจที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บรรณานุกรม
กมล สุดประเสริฐ. (2544). รูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจ. สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟิก.
โกวิทย์ พวงงาม. (ม.ป.ป.). ความคืบหน้าของการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทิศทางที่ควรจะเป็นไปในอนาคต. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2548,
จาก http://www.local.moi.go.th/webst/article2.pdf
ชาญชัย อาจินสมาจาร. (2548). สู่ทิศทางใหม่ของการบริหารการศึกษา. กรุงเทพฯ: ก้าวใหม่.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. (2545). การปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข ตัวชี้วัด และระดับคุณภาพใน
การประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547. (29 กันยายน 2547). ราชกิจจานุเบกษา. 121(พิเศษ 110ง). หน้า 8-10.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549. (13 มกราคม 2549). ราชกิจจานุเบกษา. 123(พิเศษ 7ง). หน้า 8-11.
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. 2542. (17 พฤศจิกายน 2542). ราชกิจจานุเบกษา. 116(114). หน้า 48-66
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2546. (4 พฤศจิกายน 2546). ราชกิจจานุเบกษา. 120(109 ก). หน้า 5-20.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. (11 ตุลาคม 2540). ราชกิจจานุเบกษา. 114(55 ก). หน้า 1-99.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. (24 สิงหาคม 2550). ราชกิจจานุเบกษา. 124(57 ก). หน้า 1-127.
วุฒิสาร ตันไชย. (2551). ทิศทางการปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2551, จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/
35389/1
โรงเรียนนาทรายวิทยาคม. (2550). สารสนเทศ ปีการศึกษา 2550. ลำพูน: ม.ป.พ.
สโรช สันตะพันธุ์. (8 มกราคม 2549). ปัญหาการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: การถ่ายโอนสถานศึกษา. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2549,
จาก http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=857
สำนักนายกรัฐมนตรี (2549). คู่มือการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
สำนักบริหารงานทะเบียน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน. (2550). ข้อมูลสถิติอำเภอลี้. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน). (2547). รายงานการประเมินคุณภาพภายนอก สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนนาทรายวิทยาคม. กรุงเทพฯ: สมศ.
สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์. (2548). ปัจจัยเชิงพหุระดับที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐในกรุงเทพ. วิทยานิพนธ์ ศษ.ด., มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, กรุงเทพฯ.
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ. 2549-2551).
ลำพูน: ม.ป.พ.
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย. (2550). แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ปี พ.ศ. 2550-2552. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
อุทัย บุญประเสริฐ. (2544). รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาแนวทางการบริหารและการจัดการของสถานศึกษา ในรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว.

สภาพปัญหา พร้อมหาแนวทางการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีคุณภาพ

วิจัยสภาพปัญหา พร้อมหาแนวทางการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีคุณภาพ
โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา วิจัยสภาพปัญหา พร้อมหาแนวทางการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีคุณภาพ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ศึกษาวิจัยสภาพปัญหาและการบริหารจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนึ่งในภาคีหลักที่ร่วมรับผิดชอบจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทย โดยนายอำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ในส่วนของเทศบาลที่มีโรงเรียนในสังกัด มีการจัดทำแผนงาน โครงการ และจัดทำปฏิทินการปฏิบัติงานด้านวิชาการ พร้อมกำหนดวัตถุประสงค์ แนวนโยบาย และมีการประเมินแผนงานเป็นระยะ รวมถึงให้การสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา โดยจัดอบรมครูและผู้บริหาร สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งมีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษามากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้
เมื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการบริหารจัดการศึกษาของเทศบาลที่มีโรงเรียนในสังกัด เลขาธิการสภาการศึกษา สรุปว่า พลังของสภาเทศบาลและประชาชน ในการตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง จะเป็นแรงจูงใจ และแรงขับให้งานเกิดผลสำเร็จและสามารถเข้าถึงใจประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองได้ง่าย ในขณะที่การบริหารจัดการศึกษา จะต้องมีผู้บริหารที่ดี มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม และบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ผู้บริหารเทศบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับแรก ส่วนงบประมาณที่จัดสรรแบบเงินอุดหนุนเป็นก้อน ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และมีความยืดหยุ่น ในขณะที่การบริหารงานบุคคล เทศบาลมีลักษณะ และระบบการบริหารจัดการที่สามารถจัดสรร ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรในสังกัดได้ จึงส่งผลให้การบริหารจัดการของเทศบาลมีความคล่องตัว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษาของเทศบาลด้วย ซึ่งนายอำรุง จันทวานิช เปิดเผยผลการศึกษาว่า จำนวนบุคลากรในสำนัก หรือกองการศึกษาไม่เพียงพอต่อภาระงานและโครงสร้างการบริหาร เนื่องจากโครงสร้างการบริหารมีการขยายขอบเขตภาระงานเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถจัดสรรบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งได้ เพราะระเบียบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นกำหนดว่าการใช้จ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่น และเงินค่าจ้างของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้างที่มาจากเงินรายได้ จะกำหนดสูงกว่าร้อยละ 40 ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ได้ ซึ่งเทศบาลส่วนใหญ่โดยเฉพาะเทศบาลที่มีรายได้ รายรับน้อย จะมีรายจ่ายในส่วนนี้ใกล้ร้อยละ 40 อยู่แล้ว และอุปสรรคสำคัญก็คือความไม่ชัดเจนในเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพของบุคลากร การเลื่อนวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมบุคลากรในสำนัก หรือกองการศึกษาของเทศบาล ในขณะที่การนิเทศ กำกับติดตามและประเมินผลการศึกษาดำเนินการได้ไม่เต็มที่ สืบเนื่องจากสำนัก กองการศึกษาขาดแคลนบุคลากร ทำให้การดำเนินการนิเทศ กำกับติดตาม และประเมินผลการศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ อีกปัญหาเรื้อรังที่สำคัญก็คือขาดความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณระดับสถานศึกษา แม้ว่าเทศบาลจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ แบบให้เงินอุดหนุนเป็นก้อน แต่ระเบียบปฏิบัติ ซึ่งโรงเรียนสังกัดเทศบาลมีอำนาจการสั่งจ่ายงบประมาณได้ไม่เกิน 3,000 บาท ส่งผลให้การดำเนินการบางแผนงาน หรือโครงการมีการชะลอตัว ผลสำเร็จตามเป้าหมายไม่เป็นไปตามช่วงเวลาที่มีความต้องการ นอกจากนี้ เด็กที่เข้าสู่ระบบโรงเรียนสังกัดเทศบาล มีพื้นฐานและภูมิหลังที่หลากหลายสูง ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ และคุณภาพผู้เรียนก่อนเข้าศึกษา ดังนั้น กระบวนการพัฒนานักเรียน ครูและบุคลากรจึงต้องทำงานอย่างหนัก ผลสำเร็จของการพัฒนาเห็นผลได้ค่อนข้างช้า
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ยังได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการศึกษาระดับเทศบาลด้วยว่า จะต้องส่งเสริมให้นายกเทศมนตรีและผู้บริหารเทศบาล มีความรู้ความสามารถ เข้าใจการบริหารจัดการศึกษา มีวิสัยทัศน์ มีนโยบายและทิศทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ควรบูรณาการงานทุกด้านของเทศบาล และมีระบบการทำงานเป็นเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาให้เป็น “องค์กรแห่งวัฒนธรรมคุณภาพ” พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาเป็นพิเศษโดยเฉพาะเทศบาลที่มีรายได้น้อย ควรจัดสรรบุคลากรให้สอดคล้องและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ครบถ้วน
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ผู้เสนอ : กลุ่มวิเคราะห์ข่าวและฐานข้อมูล สำนักโฆษก

ค้นคืนจาก http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1794&contents=18181 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551

ในส่วนของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้รับโอนภารกิจด้านการศึกษามาจัดนั้น ขณะนี้ (2553) เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ผลงานจะปรากฎไปในทิศทางไหน? นั้น เป็นที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

วันที่ 27 มกราคม 2553 นี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จะได้จัดให้มีการเผยแพร่ผลงานในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งการจัดการศึกษาโรงเรียนในสังกัด 3 โรงเรียน ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ถนนเลี่ยงเมือง จังหวัดลำพูน

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

“ ครูมืออาชีพตามมาตรา 24 ”

“ ครูมืออาชีพตามมาตรา 24 ”
นายยงยุทธ ยะบุญธง***
ถ้าจะมีผู้ตั้งคำถามว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ อะไร คำตอบที่ถูกต้อง ก็น่าจะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ หรือการปฏิรูปการเรียนการสอนนั่นเอง เพราะถ้าเราได้อ่านพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อย่างละเอียด อย่างพินิจ พิเคราะห์ก็จะพบว่า สาระทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในทุกมาตรา นำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ คือ การมุ่งไปสู่การพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ
การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้จะสำเร็จได้ต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพและสอดคล้องตามจุดประสงค์ของการศึกษาแต่ละระดับ และปรับบทบาทของครูจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ชี้แนะ สนับสนุนเอาใจใส่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ครูควรใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมกับวัย ส่งเสริมผู้เรียนให้สร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สัมผัส ปฏิบัติด้วยตนเอง ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย ใช้แหล่งความรู้นอกเหนือจากห้องเรียน โรงเรียน และหนังสือ
ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้มีอยู่ 4 ประการ คือ 1. หลักการเรียนรู้ 2. บทบาทของครู
3. บทบาทของผู้เรียน 4. การจัดสภาพการเรียนรู้ ดังนี้
1. มีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้โดยอาศัยสภาพความเป็นจริง
2. จัดประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัย และความสามารถของผู้เรียน
3. บูรณาการเนื้อหา กิจกรรมและทักษะการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงพื้นฐานของผู้เรียน
4. ให้โอกาสผู้เรียนได้สัมผัสปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง
5. ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูโดยทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดและปรับตัวทางสังคมร่วมกัน
6. ให้ผู้เรียนมีโอกาสคิด เลือก ตัดสินใจในการทำกิจกรรม โดยมีผู้ใหญ่คอยให้กำลังใจ
7. สร้างบรรยากาศที่ให้ผู้เรียนมีคิดอิสระและสนับสนุนความคิดริเริ่ม
8. สร้างเสริมความรู้สึกภูมิใจในการทำกิจกรรมและความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
9. ติดตามสังเกตผู้เรียน สะท้อนข้อมูลจากการสังเกตและประเมินผล
10. ปรับเปลี่ยนบทบาทครูในฐานะผู้สอนเป็นผู้สังเกต ผู้เรียนรู้และผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
11. ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับบทบาทพ่อแม่และสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาผู้เรียน
มาตรา 24 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กล่าวถึง การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับ ความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
ในแต่ละชั้นแต่ละห้องผู้เรียนมีอายุไล่เลี่ยกัน ส่วนใหญ่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน มองดูเหมือนเหมือน ๆ กัน แต่ในความเป็นเด็กเหมือนกันนั้น พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอยู่ด้วยทั้งรูปร่างหน้าตา บุคลิกลักษณะนิสัย ความเฉลียวฉลาดในการเรียนรู้ช้าเร็วต่างกัน แต่ในความแตกต่างนี้ก็เป็นมุมของความงดงามในสังคมมนุษย์ที่จะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทดแทนกันและกัน เรียนรู้จากกันและกัน ความแตกต่างจึงมีคุณค่าในการพัฒนา
เพื่อจะได้นำข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นการค้นหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ระเบียนสะสม รบ.3 บัตรสุขภาพ จากบุคคล ได้จากการรวบรวมข้อมูลโดยหลากหลายวิธี และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ สรุปผล นำไปช่วยเหลือแก้ไข ส่งเสริมและสนับสนุนให้เขาพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ มีความสุข ครูต้องศึกษาเพื่อให้รู้จักผู้เรียนทุกคนเพราะในห้องเรียนมีผู้เรียนมากมาย ต่างชอบหลากหลายวิธีเรียน ครูจึงต้องมีหลากหลายวิธีสอน จัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
การจัดกิจกรรมที่เน้นกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รู้จักตนเอง รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักพึ่งพาอาศัยกัน รู้วิธีศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และศึกษาหาความรู้ร่วมกับผู้อื่น รู้จักประเมินตนเองและยอมรับผลการประเมินจากผู้อื่น การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน การสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข
การให้ผู้เรียนทำโครงงาน เรียนแบบมีส่วนร่วม พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวิชานั้น ๆ กระตุ้นให้ผู้เรียนไปหาความรู้เพิ่มเติม กระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ การเรียนแบบนี้ใช้เวลา ฉะนั้นการเรียนในชั่วโมงอย่างเดียวไม่พอ แนะวิธีการศึกษาด้วยตนเองตามความเหมาะสม ครูต้องเหนื่อยกว่าปกติ แต่คุ้มค่าที่ได้ทำให้ผู้เรียนฉลาดขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักสื่อความหมาย ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ ความถนัด ถ้าผู้เรียนชอบการ์ตูนก็ให้ผู้เรียนสื่อออกมาในรูปของการ์ตูนได้
(2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
การสอนให้นักเรียนมีกระบวนการให้นักเรียนรู้วิธีเรียน (Learn how to learn) ไม่ใช่จำเนื้อหาวิชา นักเรียนก็จะมีความรู้ติดตัวไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ นอกจากทักษะกระบวนการแล้ว ทักษะการจัดการซึ่งผู้เรียนควรมีลักษณะ 3 ประการ คือ 1. รู้จักนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง 2. รับรู้กระบวนการและนำไปใช้ได้ 3. เห็นช่องทางในการนำสิ่งที่เรียนไปประกอบอาชีพ - รายได้
ดังนั้นครูผู้สอนจึงมีภาระหน้าที่ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้ฝึก ทักษะต่าง ๆ ดังนี้ กระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกการคิดโดยใช้คำถาม หรือปัญหานำ อาจใช้ของเล่น หรือกรณีเหตุการณ์ ข่าวประจำวัน ตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ดึงมาเป็นหัวข้อให้ผู้เรียนวิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือไปดูสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นตามข่าว ค้นหาคำตอบ แล้วร่วมกันสรุป ทำให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน ไม่ใช่ ต้องเรียน
ฝึกนักเรียนให้คิด และวิเคราะห์ด้วยตนเอง และทำงานแบบกลุ่ม พร้อมกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ในแต่ละด้าน ไม่ควรแยกผู้เรียนออกจากัน คำถามแต่ละคำถามครูต้องรู้ว่าผู้เรียนอยู่ในระดับไหน และปล่อยให้ผู้เรียนได้หาคำตอบด้วยตนเอง
โรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมค่ายต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์โดยถ่ายทอดความคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม บางครั้งผู้เรียนก็จะเป็นครูของเราโดยไม่รู้ตัว ในแง่ของความคิด ซึ่งผู้เรียนจะมีการเสนอวิธีคิดออกมาแบบง่าย ๆ น่าสนใจ
การวิเคราะห์ คือ การแยกส่วน การฝึกวิเคราะห์ควรเริ่มด้วยการให้ผู้เรียน “มองต่างมุม” และ “มองหลายมุม” แนวทางหนึ่งของการฝึกวิเคราะห์ คือ การใช้คำถาม ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เท่าไร ทำไม
(3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
บรูเนอร์ (Jerome Bruner) นักการศึกษาที่สำคัญท่านหนึ่ง เสนอว่า การสอนนั้นจะต้องเป็นการให้ผู้เรียนได้เริ่มจากประสบการณ์ตรงไปสู่ประสบการณ์ผ่านภาพ (Iconic) ซึ่งเป็นตัวแทนของประสบการณ์จริง แล้วเรื่อยไปสู่ลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ (Symbol) และ อัลคอร์น (Alcorn) และคณะได้สรุปจากประสบการณ์ว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะจดจำสิ่งที่เรียนจากน้อยไปหามากดังนี้ จากสิ่งที่ 1.อ่าน 2. ฟัง 3. เห็น 4. ฟังและเห็น 5. พูด-อภิปราย 6. การกระทำ และจากกรวยประสบการณ์ของเอการ์ เดล สิ่งที่ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วและมีคุณค่า จำอย่างถาวรมากที่สุด คือ การเรียนรู้จากของจริง ประสบการณ์การตรง
ภาระหน้าที่ของครูผู้สอนจึงต้องจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ให้ได้ปฏิบัติจริงให้มากที่สุด เพื่อค้นหาคำตอบและสรุปด้วยตนเอง ฝึกให้ผู้เรียนเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี และเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของชีวิตจริง
การสอนโดยให้ผู้เรียนออกไปฝึกงาน ฝึกประสบการณ์หรือวิธีปฏิบัติมากกว่าที่จะนั่งเรียนในห้องอย่างเดียว
ให้ผู้เรียนทำโครงงานนำเสนอแนวคิด และขั้นตอนการดำเนินงานพร้อมทั้งให้ได้ปฏิบัติจริง เพื่อสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
การสอนแบบทดลอง มุ่งให้ผู้เรียนเรียนโดยลงมือกระทำ หรือโดยการสังเกต ค้นหา ข้อสรุปหรือความจริงด้วยตนเอง
จัดกิจกรรมมุ่งเน้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักแยกแยะ เชื่อมโยง เป็นระบบ กล้าแสดงออกใช้หลักเหตุและผลในการรับฟังความคิดเห็นและประเมินผลร่วมกัน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุง เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยครูจะต้องคอยส่งเสริม จัดสภาพแวดล้อมและอำนวยการให้เกิดสิ่งเหล่านี้บนความเชื่อพื้นฐานว่า ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถในทางที่ถูกอีกทั้งครูต้องยอมรับการกระทำนั้น ๆ ยกย่องและให้กำลังใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ มีนิสัยชอบปฏิบัติและสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความสุข
ให้มีการสร้างทัศนคติค่านิยมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้เรียน ดังนี้ 1. พัฒนาให้มีท่าทีหิวกระหายการเรียนรู้ 2. พัฒนาให้มีท่าทีกระตือรือร้นในการเรียนรู้ 3. พัฒนาให้มีท่าทีอุทิศตัวเอาจริงเอาจังในการเรียนรู้ 4. พัฒนาท่าทีที่เชื่อฟังและยอมรับการสอนเสมอ 5. พัฒนาท่าทีให้มีท่าทีถ่อมใจ ยินดีเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
(4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
โลกในทศวรรษหน้าจะต้องการคนที่มีความสามารถในการผสมผสานศาสตร์หลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด เช่น นักการเมือง ผู้ที่เป็นได้ทั้งผู้นำที่สามารถ นักการเงินตัวยง และนักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ที่สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง โดยไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม แต่จากสภาพปัจจุบันโลกของเรากลับมีทิศทางไปในทางตรงกันข้าม ทุกอย่างถูกแยกจากกันเป็นชิ้น ๆ ในโรงเรียนผู้เรียนทุกคนชินชากับการไปโรงเรียนเพื่อนั่งสังเกตว่า ต้องทำเลขอย่างไร ในตอนเช้า พอตกบ่ายก็ต้องมานั่งจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมวิทยา ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไรกับเขาเลย พอเรียนจบไปแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ใหม่อีกครั้งจากโลกภายนอก ดังนั้น การเรียนในโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่สูญเปล่า
หลักสูตรแบบบูรณาการจึงจำเป็นสำหรับทศวรรษหน้าและอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีนักคิด นักการศึกษาหลายคนได้เริ่มนำ ศิลปะแห่งการผสมผสานหลักสูตร มาใช้เพื่อให้ผู้เรียน ๆ ได้เรียนรู้ทักษะแห่งการผสมผสานอันเป็นคุณลักษณ์ที่จำเป็นอย่างมากในทศวรรษที่ 21 นอกจากนั้นยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ลดเวลาเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นการแบ่งเบาภาระในการสอนของครู
ถ้าเราต้องการจะให้คนรุ่นใหม่เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน (Lifelong Learner) และเป็นผู้สร้างสรรค์ที่ดีไปพร้อม ๆ กัน เราต้องช่วยให้ผู้เรียน เกิดความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิต จะต้องทำให้เขาทราบว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของโลก เขาสามารถใช้ทักษะวิทยาการต่าง ๆ ที่เรียนมาใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง ทั้งนี้เพราะวิถีชีวิตของคนที่ต้องดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนเป็นองค์รวม
Story Line Method คือ การเอาทฤษฎีการเรียนรู้หลายทฤษฎีมาใช้ร่วมกัน เช่น การบูรณาการ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวผู้เรียน เชื่อมโยงออกไปสู่วิถีชีวิตจริง การค้นคว้าหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นต้น Story Line Method มีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่า ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม ผลการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งความรู้นั้นและประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญและผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีต้องผ่านการกระทำของตนเองด้วยประสบการณ์ตรง หลักการของ Story Line คือ การสร้างเรื่องหรือสถานการณ์สมมติที่จะศึกษาให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
การจัดการเรียนรู้โดยโครงงาน ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ และหลักการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ คือ เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนภายใต้หลักการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสอดคล้องกับสภาพจริงในท้องถิ่น
การใช้วิธีการประเมินจากแฟ้มผลงาน จะสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามหลักสูตรได้หลากหลายวิชา เสริมสร้างความสนใจในการเรียนรู้ด้านภาษา การเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อย่างมีความหมาย รวมถึงการเกิดความร่วมมือในการเรียนรู้และการบูรณาการวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ตามในการบูรณาการหลักสูตร และจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ด้วยทุกครั้ง
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
การจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนการสอน และสิ่งต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวย เพิ่มความสะดวกแก่ผู้เรียน และผู้สอน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่ง ต่อการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้
โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมทั้งครูผู้สอนจึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียน ครูกับครู ให้โอกาสอิสระในการลองผิดลองถูก มีความหลากหลาย มีอิสระในการเลือก บรรยากาศเป็นมิตรไมตรีต่อกัน เรียนรู้ร่วมกัน หากมีการแข่งขันก็มุ่งเน้นการพัฒนา เวลาที่เหมาะสม เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีความสนุกสนาน ครูและผู้เรียนมีการตื่นตัวตลอดเวลา มีความสนุกในการเรียนรู้ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดหา ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมเพียงพอ
ครูทุกคนสามารถทำวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน (Classroom Research) เพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เรียนอย่างคิดเป็นทำเป็น พัฒนาเต็มศักยภาพและมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำให้เด็กไทยฉลาด เป็นคนเก่ง คนดี คือ บทบาทและภาระกิจของคุณครูทุกคน และสถานศึกษาทุกแห่ง
(6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
ความรู้ และแหล่งการเรียนรู้มีอยู่มากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่ครูจะติดตามไปสอนผู้เรียนได้หมด ต้องสร้างให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพื่อติดตาม ค้นคว้าหาความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น
การที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องเริ่มจากต้นทุนที่เป็นฐานความรู้ที่นักเรียนมีอยู่ เชื่อมโยงไปสู่แหล่งเรียนรู้ไกลตัว ในโลกกว้างจากแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวที่สุด คือ แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่นทรัพยากร สภาพปัญหา การประกอบอาชีพในชุมชนฯ และเชื่อมโยงต่อสู่ความเป็นสากล สังคมโลก
กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดจะเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ตัวอย่าง การนำภูมิปัญญาในชุมชนใกล้เคียงมาใช้ในโรงเรียน ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่เด็กและครู เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน โดยเน้นบทบาทของการแสดงออกเป็นสำคัญ จัดให้มีค่ายวิทยาศาสตร์ ร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในเขต หรือในสหวิทยาเขต หรือกลุ่มโรงเรียน สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจ
การเรียนการสอนไม่ได้อยู่แต่ในโรงเรียน ผู้เรียนสามารถไปศึกษาที่บ้านหรือท้องถิ่นได้ การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด ครูสามารถสร้างเจตคติให้ผู้เรียนสนใจได้

ครูมืออาชีพตามมาตรา 24 ต้องใช้เทคนิคการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ อันประกอบด้วย การรู้จักรายบุคคล ซึ่งมีหลากหลายวิธี หลากหลายแหล่งเรียนรู้ ช่วยให้ครูรู้จักเด็ก กลุ่ม พลังการเรียนแบบร่วมมือ บูรณาการ วิถีการจัดการเรียนรู้ของครูยุคใหม่ โครงงาน การเรียนรู้ที่ลุ่มลึก การเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่น การเรียนรู้ที่มีความหมายใช้ได้จริงในชีวิต และพอร์ตโพลิโอ (Portfolio) แหล่งรวบรวมผลการเรียนรู้
***อาจารย์ 2 ระดับ 6 หมวดวิทยาศาสตร์ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

THE OPERATION OF INTERNAL QUALITY ASSURANCE

TITLE: THE OPERATION OF INTERNAL QUALITY ASSURANCE
ACCORDING TO THE EDUCATIONAL QUALITY ASSURANCE SYSTEM OF
BASIC EDUCATION SCHOOL IN LAMPHUN EDUCATIONAL SERVICE
AREA
First name Last name: Mr.Yongyouth Yaboonthong
Affiliation: Educational Administration, School of Educational Studies, Sukhothaithammathirat Open
University
e-mail address of corresponding author: nasai_adm@hotmail.com, suanboon@yahoo.com
Keywords: Internal Quality Assurance, The educational quality assurance system, Basic Secondary
Education School.
The purposes of this research were (1) to study the operation of internal quality assurance
according to the educational quality assurance system of basic education school in Lamphun educational
service area; (2) to compare the operation of internal quality assurance according to the educational quality
assurance system of basic education school in Lamphun educational service area in Different of the levels
and (3) to study problems and recommendation to solve problems of internal quality assurance according to
the educational quality assurance system of basic education school in Lamphun educational service area
The populations are basic education school in Lamphun educational service area, which formal
education, Total 241 schools. The sample consisted of 178 schools, cluster sampling by school in Different
of the levels. The persons who give data are to have to do with internal quality assurance according to the
educational quality assurance system. The instrument employed in the research was a questionnaire with the
reliability of .97. The statistics for data analysis were the frequency distribution, percentage, mean, standard
deviation, ANOVA and Tukey's HSD test
The research findings were as follows: (1) the whole process of internal quality assurance as
practiced in basic education school in Lamphun educational service area was at the moderate level. (2)
When the Compare with the operation of internal quality assurance according to the educational quality
assurance system of basic education school in Lamphun educational service area in Different of the levels
regarding the process of internal quality assurance as practiced in schools were compared, it was found that
their operation were significantly different at the .05 level. Regarding the operation of the processes of
internal quality assurance as practiced in schools of different level, significant difference at the .05 level
was found with the all process practiced in all level schools. All this the school which to manage education
in 3 – 4 level has mean of practiced more than 1-3 and 1-2 level and 1-3 level more than 1-2 level. (3) the
most of problems is to lack of human resources and to need knowledge and understanding of internal
quality assurance system. Recommendations to solve problems are to train and they should to evaluate and
develop must be continuous process and together.

รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนถ่ายโอนฯ กรณีโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม

รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม
ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

A PROPOSED MODEL OF PARTICIPATIVE ADMINISTRATION IN BASIC EDUCATION INSTITUTION TRANSFERRED TO OFFICE OF LOCAL ADMINISTRATIVE ORGANIZATION

ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง
Dr. YONGYOUTH YABOONTHONG
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
วุฒิการศึกษา : ปริญญาเอก
สถานที่ติดต่อ : โรงเรียนนาทรายวิทยาคม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110
โทร 053-979628, 081-2874873, E-mail: nasai_1@nws.ac.th
ผู้ร่วมวิจัย : -
ปีที่ทำสำเร็จ : ปี พ.ศ. 2551
ประเด็นการวิจัย : การบริหารการเปลี่ยนแปลง (การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
ลักษณะการวิจัย : วิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
ประเภทการวิจัย : การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR)
การนำเสนอเวทีวิชาการอื่น: การประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 13
แหล่งเงินทุน : มหาวิทยาลัยนเรศวร งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2552

ความเป็นมาของการวิจัย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 16 ฉบับ และด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยครั้งใหญ่ (โกวิทย์ พวงงาม, ม.ป.ป., หน้า 1) นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ยังได้มีการกำหนดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักใน การจัดบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนนี้เองเป็นหลักประกันว่ารัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก โดยใช้การกระจายอำนาจเป็นกลไกสำคัญ และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้มีการกำหนดมาตรา 283 อันเป็นการระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน และ การคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ(วุฒิสาร ตันไชย, 2551, หน้า 1) รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอภิวัฒน์ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คือ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) และคณะกรรมการฯได้จัดทำประกาศ แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 และประกาศใช้แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 จนปัจจุบัน ภารกิจกระจายอำนาจของไทยไม่ก้าวหน้ามากนัก เนื่องจากบรรดาเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้านการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การถ่ายโอนการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2548 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 กำหนดเกณฑ์การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกำหนดสัดส่วนการขอรับถ่ายโอนสถานศึกษา แยกตามระดับการศึกษาและตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีมติให้โอนสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มติดังกล่าวสวนทางกับความคิดเห็นของสมาคมครูและผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่จึงได้รวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ประท้วงดังกล่าว จึงเพิ่มเติมเงื่อนไขการถ่ายโอนว่าการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของสถานศึกษา ที่จะต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อหาทางออกที่จะลดผลกระทบ โดยให้เป็นไปในลักษณะของการสมัครใจใน 2 ระดับ คือ สมัครใจในส่วนสถาบัน คือ โรงเรียน และการสมัครใจของผู้บริหารโรงเรียนและครู หากทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เต็มใจที่จะรับ และมีความพร้อมที่จะรับ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นว่าพร้อมรับ และโรงเรียนพร้อมที่จะถ่ายโอนไปจึงจะสามารถถ่ายโอนได้ (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) และจัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ การถ่ายโอนจะต้องมีการระบุชื่อโรงเรียนที่ชัดเจน และต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยในปีการศึกษา 2549 จะต้องยื่นเรื่องขอรับการประเมินภายใน 120 วันก่อนวันเปิดภาคเรียน คือ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2549 (กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, 11 มกราคม 2549) ในส่วนของการแสดงความสมัครใจให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) และหลังจากนั้น วันที่ 17 มกราคม 2549 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) โดยในหมวด 3 (1) กำหนดให้รับข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นเป็นสมาชิก และมาตรา 70 (1) คงสิทธิการเป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้เช่นเดิม (พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549, 17 มกราคม 2549, หน้า 8)
ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีกระบวนการหาความสมัครใจของโรงเรียนและการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะมีการปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็มีการถ่ายโอนโรงเรียนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อถึงสิ้นปี โรงเรียนในบัญชี 1 โอนไปทั้งสิ้น 70 โรงเรียน จากนั้นต่อมาก็มีการถ่ายโอนมาเรื่อย ๆ เมื่อมีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ปัญหาที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่อง คุณภาพและมาตรฐานทั้งในส่วนของหลักสูตร และในการจัดการเรียนการสอน สโรช สันตะพันธุ์ ได้กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนได้ผ่านกระบวนการถ่ายโอนมาสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วระยะหนึ่ง ควรจัดให้มีการประเมินผลการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สโรช สันตะพันธุ์, 2549) โดยอาจมอบให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มจัดการศึกษา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้แก่ราษฎรในท้องถิ่น (กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, ม.ป.ป.) แต่เนื่องจากเทศบาลในขณะนั้นมีงบประมาณน้อย ทำให้การจัดการศึกษาของเทศบาลไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จึงได้โอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลกลับคืนให้กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีประสบการณ์จัดการศึกษาโรงเรียนประชาบาลนอกเขตเทศบาลเป็นระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – 2523 ก่อนที่จะมีการโอนโรงเรียนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะในระดับช่วงชั้นที่ 3-4
สถานศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติที่สำคัญที่สุด เมื่อถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะต้องมีการบริหารและจัดการให้เกิดการขับเคลื่อนไปภายใต้ภาวการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการบริหารการจัดการของสถานศึกษาใหม่ ทั้งรูปแบบ แนวทางให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ ความเป็นนิติบุคคลที่สิ้นสุดลง คำนึงถึงคุณค่าความมีประสิทธิภาพและคุณภาพของสถานศึกษา รวมทั้งความเป็นท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการทางการศึกษาเป็นสำคัญ แนวทางในการบริหารสถานศึกษาที่มุ่งสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา และหลักการในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 2549 หน้า 13) ซึ่ง ชาญชัย อาจินสมาจาร (2548, หน้า 26) กล่าวว่า ประสิทธิผลของการศึกษา เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของรูปแบบการบริหาร คุณลักษณะขององค์การ และบรรยากาศการทำงานแบบมืออาชีพ ประสิทธิผลทางการศึกษาสูงสุด ต้องการรูปแบบการบริหารและบรรยากาศในองค์การที่เหมาะสม ดังนั้นรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต้องการค้นหา

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อตกลงเบื้องต้น
ในการวิจัยครั้งนี้ ชื่อของสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด ครูและบุคลากรในสถานศึกษา บุคลากรในหน่วยงานต้นสังกัด หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และเครือข่ายสถานศึกษาที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นชื่อสมมติทั้งสิ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ได้ในภายหลัง

ระเบียบวิธีวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ แบบการศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research - PAR) ของโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม ซึ่งก่อนการถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุวรรณภูมิ เขต 2 ต่อมาได้ถ่ายโอนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุวรรณภูมิ มีวิธีการศึกษา 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพและความต้องการ เกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการศึกษาเอกสาร ศึกษาสภาพการบริหารสถานศึกษาก่อนการถ่ายโอนฯ การสังเกต จัดประชุมระดมความคิด (Brain Storming Meetings) การใช้เทคนิค SWOT Analysis การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาจำนวน 300 คน
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฎี เกณฑ์การคัดเลือก และเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาดีเด่น และงานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลในขั้นตอนที่ 1 ผสมผสานกับการศึกษารูปแบบโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ 3 รูปแบบ จำนวน 12 โรงเรียน วิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อร่างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม และให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 15 คน ตรวจสอบและพิจารณาความเป็นไปได้ของร่างรูปแบบฯ
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ ศึกษาผลการใช้ และถอดรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้
3.1 ขั้นเตรียมการ โดยการสร้างความตระหนัก แก่ คณะครู ชุมชน นักเรียน ผู้ปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน และเตรียมพัฒนาครูและบุคลากร เพื่อการสร้างองค์การใหม่ การสรรหาบรรจุแต่งตั้งครูใหม่ โดยผู้นำต้องใช้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง การจัดองค์กรโครงสร้างใหม่ การจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี แผนดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. การสร้างคู่มือคุณภาพ การสร้างคู่มือการปฏิบัติงาน และการฝึกอบรมก่อนการดำเนินงาน ระหว่างการดำเนินการและหลังดำเนินการ ตลอดจนการประเมินผล
3.2 ขั้นตอนการดำเนินการ โดยทั้ง 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา ชุมชนและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและเป็นระบบโดยใช้การบริหารคุณภาพ PDCA การมีส่วนร่วม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อให้แก้ไขปัญหาและใช้ ICT เพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
3.3 ขั้นตอนการศึกษาผลการใช้รูปแบบ และถอดรูปแบบฯ โดย
3.3.1 ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การสังเกต ประชุมระดมพลังสมอง การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนศึกษาจากบันทึกการประชุมต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ข้อมูลแบบสามเส้าแล้วสรุป
3.3.2 ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยสร้างแบบสอบถาม และนำไปสอบถามผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 328 คน จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และร้อยละ โดยใช้คอมพิวเตอร์

สรุปผลวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

1. ผลจากการศึกษาสภาพของโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด 130 กิโลเมตร เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ถ่ายโอนภารกิจการจัดการศึกษาไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุวรรณภูมิ วันที่ 15 มกราคม 2550 ถ่ายโอนบุคลากรและทรัพย์สินเสร็จสิ้น เมื่อเดือนกันยายน 2550 ก่อนการถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีการศึกษา 2549 มีครู 12 คน รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน 231 คน โรงเรียนประสบปัญหาทั้งในด้านจำนวนครูตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. และขาดแคลนครูตามวิชาเอก อาคารเรียน อาคารประกอบ สื่อการเรียนการสอน งบประมาณ ไม่เพียงพอ รวมทั้งผลการประเมินคุณภาพทางวิชาการของนักเรียนยังไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ความเชื่อถือและการยอมรับจากผู้ปกครองนักเรียนลดลงเรื่อยมาจากตัวบ่งชี้ที่สำคัญคือ จำนวนนักเรียนลดลงประมาณครึ่งสุวรรณภูมิ ในระยะ 5 ปีย้อนหลัง คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และชุมชนจึงได้สมัครใจถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังกล่าว
2. การสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลจากการรวบรวมและศึกษาเอกสารแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่ เกี่ยวกับรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในช่วงชั้นที่ 3 -4 ทั้งของสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งได้วิเคราะห์รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเชิงประจักษ์ จากโรงเรียน 3 รูปแบบ ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารสถานศึกษา คือ สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน สถานศึกษา 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน และสถานศึกษาต้นแบบดีเด่นสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าโรงเรียนทั้ง 3 รูปแบบ มีการบริหารจัดการภาระงานเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การปฏิรูปการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยมุ่งผลประโยชน์สูงสุดให้เกิดแก่นักเรียน แล้วนำมาสังเคราะห์ และสร้างเป็นรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนถ่ายโอนฯ ที่ประกอบด้วย โครงสร้างการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม โครงสร้างการบริหารภายในสถานศึกษา คู่มือคุณภาพ และคู่มือการปฏิบัติงาน และได้ตรวจสอบความเป็นไปได้จากผู้เชี่ยวชาญ ปรับปรุงแก้ไข และนำเสนออาจารย์ที่ปรึกษา
3. การทดลองและศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนฯ โดยการนำรูปแบบฯ จากขั้นตอนที่ 2 ไปทดลองและศึกษาผลการใช้ ที่โรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม เป็นระยะเวลา 1 ภาคเรียน ในระหว่างการทดลองใช้ร่างรูปแบฯ มีการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ และแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การประสานงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร และที่สำคัญ คือ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา มีการประเมินผลระหว่างการใช้ หาจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนา แก้ไข ปรับปรุง โดยการถอดประสบการณ์ร่วมกัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองใช้มีการประเมินรูปแบบฯ และหาประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษา ปรากฏผล ดังนี้
โครงสร้างการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามภาพ 1 ประกอบด้วย การสายบังคับบัญชาจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จนถึงสถานศึกษา รวมทั้งสายความสัมพันธ์หรือสายแสดงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน เริ่มจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้มีปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนสุวรรณภูมิ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมาย (พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด, 2546, มาตรา 39,หน้า 13) มีรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลทางด้านการศึกษา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองปลัดฯ คนใดคนสุวรรณภูมิเป็นผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา และผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รับผิดชอบ กำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัด
สายสัมพันธ์และสายความร่วมมือ ด้านการบริหารจัดการ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจในความรับผิดชอบ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการบริหารงานบุคคล การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะส่วนแผนและงบประมาณทางการศึกษาท้องถิ่น สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมอื่น ๆ (ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา) กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่นจังหวัด สมาคมผู้บริหารโรงเรียนถ่ายโอนฯ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สายสัมพันธ์และสายความร่วมมือ ด้านวิชาการ ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายสถานศึกษา (เครือข่ายสถานศึกษา เครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดสุวรรณภูมิ) คณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนงานวิชาการระดับท้องถิ่น, ระดับกลุ่ม, ส่วนกลาง และส่วนจังหวัด คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการ ของโรงเรียน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สายสัมพันธ์และสายความร่วมมือ ด้านการบริหารจัดการในสถานศึกษา และการสนับสนุนทรัพยากร ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชมรมผู้ปกครองนักเรียน และครู ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียน ชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน โรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม
ในส่วนของการบริหารภายในสถานศึกษาซึ่งความเป็นนิติบุคคลได้สิ้นสุดลงจากผลของการถ่ายโอนฯ มีโครงสร้างการบริหารภายในสถานศึกษา ดังภาพ 2 เริ่มจากผู้อำนวยการสถานศึกษา กลุ่มบริหารงาน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบริหารงานวิชาการ กลุ่มบริหารงานแผนงานและงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มบริหารงานทั่วไป กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียน และกลุ่มบริหารงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ละกลุ่มบริหารงาน มีกลุ่มงานภายในรวม 18 กลุ่มงาน คือ กลุ่มบริหารงานวิชาการ มี 4 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานแผนและงบประมาณ มี 2 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานบุคคล มี 2 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียน มี 3 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานบริหารงานทั่วไป มี 4 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร มี 3 กลุ่มงาน
โครงสร้างการบริหารงานภายในของแต่ละกลุ่มบริหารงาน 6 กลุ่มบริหารงาน กลุ่มบริหารงานวิชาการ มี 4 กลุ่มงาน 13 งาน กลุ่มบริหารงานแผนและงบประมาณ มี 2 กลุ่มงาน 8 งาน กลุ่มบริหารงานบุคคล มี 2 กลุ่มงาน 7 งาน กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียน มี 3 กลุ่มงาน 14 งาน กลุ่มบริหารงานบริหารงานทั่วไป มี 4 กลุ่มงาน 12 งาน กลุ่มบริหารงานเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร มี 3 กลุ่มงาน 7 งานและสายความสัมพันธ์หรือสายแสดงความร่วมมือ กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน และสายความสัมพันธ์หรือสายแสดงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน โดยการดำเนินการของ กลุ่มบริหารงาน และกลุ่มงานใช้กระบวนการบริหารคุณภาพ P-D-C-A และหลักการมีส่วนร่วม
คู่มือคุณภาพ (Quality Manual) เป็นเอกสารที่กำหนดนโยบายคุณภาพ วิธีดำเนินการและวิธีปฏิบัติโดยทั่วไป ใช้เป็นเอกสารหลักในการอธิบายระบบ และบอกถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่คุณภาพ เพื่อให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนได้เข้าใจในนโยบายการจัดการ และการนำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงาน สร้างความมั่นใจ และเข้าใจต่อภาระหน้าที่ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อการประเมินภายใน และการประเมินจากภายนอก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตลอดทั้งหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ เนื้อหาในเอกสารประกอบด้วย การแนะนำ วัตถุประสงค์และขอบเขตของคู่มือคุณภาพ ภาพรวมของโรงเรียน ลักษณะเฉพาะของโรงเรียนถ่ายโอนฯ การบริหารองค์กร การประกาศนโยบายคุณภาพ โครงสร้างการบริหารงานสถานศึกษา โครงสร้างการบริหารกลุ่มบริหารงาน 6 กลุ่ม ความสำคัญ นโยบายวัตถุประสงค์ แนวดำเนินการ บทบาทหน้าของผู้เกี่ยวข้อง ระบบประกันคุณภาพ การบริหารทรัพยากรโรงเรียนถ่ายโอนฯ การนิเทศ กำกับ ติดตามและการควบคุม การสร้างระบบกลไกการควบคุมคุณภาพการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและคุณลักษณะอย่างเป็นระบบวิธีการปฏิบัติคุณภาพโดยทั่วไปวิธีการปฏิบัติในการควบคุมกระบวนการบริหารหลักสูตรการประเมินตนเองของข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนข้อกำหนดเพื่อความก้าวหน้า การประเมินและค้นหาความต้องการของผู้รับบริการ เทคนิควิธีสู่ความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษาโรงเรียนถ่ายโอนฯ หลักการบริหาร 5 ขั้นตอน และเอกสารแนบท้าย

คู่มือการปฏิบัติงาน (Procedure / Work Manual) เป็นเอกสารที่เปรียบเสมือนแผนที่บอกเส้นทางการทำงานที่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของกระบวนการ ระบุถึงขั้นตอนและรายละเอียดของกระบวนการต่าง ๆ ขององค์กรและวิธีควบคุมกระบวนการนั้น จัดทำขึ้นสำหรับลักษณะงานที่ซับซ้อน มีหลายขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับคนหลายคน และสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน วัตถุประสงค์ของการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานในปัจจุบันเป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานทราบและเข้าใจว่าควรทำอะไรก่อนและหลังผู้ปฏิบัติงานทราบว่าควรปฏิบัติงานอย่างไร เมื่อใด กับใคร เพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้องกับนโยบาย วิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายขององค์กร เพื่อให้ผู้บริหารติดตามงานได้ทุกขั้นตอน เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรม ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการทำงาน และใช้เป็นสื่อในการประสานงาน โครงสร้างของคู่มือการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ขอบเขต คำจำกัดความ ความรับผิดชอบ ระเบียบปฏิบัติ (ขั้นตอน) เอกสารอ้างอิง แบบฟอร์มที่ใช้ และเอกสารบันทึก
กระบวนการบริหารรูปแบบฯ
ในการบริหารสถานศึกษาตามรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังแผนภูมิ 3 ผู้บริหารจะต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ประสานงานทั้งภายในภายนอก สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และเป็นที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และกองอื่น ๆ ในการกำหนดวิธีปฏิบัติงานให้สอดคล้องกันตรงกัน และถูกต้องตามระเบียบฯ มีการจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนดำเนินงานปีงบประมาณ การบริหารทีมงาน การใช้วงจรคุณภาพ PDCA ของเดมมิ่ง ตรวจสอบการทำงานของทุกภาระงาน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากผลของการโอนสถานศึกษาเป็นเหตุให้คณะครูทั้งหมดที่มีอยู่เดิมก่อนการถ่ายโอน 11 คนย้ายออก 10 คน เหลือที่โอนย้ายไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน นักการ 1 คน และผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ทำให้ต้องมีการสรรหาและคัดเลือกคณะครูใหม่ ให้ครบตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. และตามวิชาเอก จึงได้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตลอดปี ตามเป้าหมายของแผนกลยุทธ์โดยนำครูอัตราจ้างเก่าที่เคยทำงานที่โรงเรียนนี้และได้รับการบรรจุแต่งตั้ง (โดยกรณีพิเศษ) เป็นข้าราชการครูผู้ช่วย มาเป็นหัวหน้าทีมงานและบริหารทีมงาน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้การทำงานมีคุณภาพ มีความชัดเจนต่อเนื่อง และมีคุณภาพบรรลุผลสำเร็จตามขอบข่ายภาระงาน ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น สามารถสอบเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้น และได้รับรางวัลในระดับประเทศและระดับต่างๆ ขณะที่สถานศึกษามีคุณภาพตามมาตรฐานของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการพัฒนาตามความต้องการของชุมชนและองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และได้ขยายเปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพในปีการศึกษาต่อไป


สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
สรุปผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม พบว่า โครงสร้าง การบริหารสถานศึกษา มีความเหมาะสมกับขนาด จำนวนนักเรียน ระดับการศึกษา มีความคล่องตัว มุ่งสู่คุณภาพ ประสานภายในและภายนอกเป็นอย่างดี มีกลุ่มบริหารงานที่เหมาะสมกับความจำเป็นของโรงเรียนถ่ายโอนฯ สภาพบริบทของโรงเรียนที่ต้องพัฒนาในทุกด้าน และในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนเป็นอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ แคมป์ และคณะ (Camp and Others, 1967, pp. 96 – 129) สุทธิพงศ์ ยงค์กมล (2543 , บทความ) คู่มือคุณภาพ และคู่มือการปฏิบัติงาน มีอรรถประโยชน์ ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด เหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุวรรณภูมิ ทั้งนี้เพราะครูซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ได้ร่วมกันสร้าง พัฒนา ทดลองใช้ เพื่อเป็นทิศทางและแนวทางในการปฏิบัติงาน ได้ร่วมกันแก้ไขปรับปรุงคู่มือคุณภาพและคู่มือการปฏิบัติงานด้วยตนเอง จนสามารถการทำงานในแต่ละด้านมีประสิทธิผล ที่เห็นได้ชัดเจน คือ งานของกลุ่มบริหารงานแผนและงบประมาณ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management) การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ตลอดจนการประกันคุณภาพการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูประบบราชการแนวใหม่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2549, หน้า 3 - 82) การประเมินประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาที่เกิดขึ้น ของโรงเรียนใน 6 มิติ คือ ความสำเร็จของโรงเรียน ผลประโยชน์ด้านการเงินของโรงเรียน ผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของโรงเรียน ความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ประกอบด้วย นักเรียน ชุมชน และผู้ปกครองนักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายผลที่มีต่อสังคมและชุมชนในการจัดการศึกษาของโรงเรียนพบว่า ผลประโยชน์ด้านการเงินของโรงเรียน อยู่ในระดับ มากที่สุด นอกนั้นอยู่ในระดับมากสอดคล้องกับงานวิจัยของสำนักผู้ราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 1 – 12 และ กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (บทสรุปสำหรับผู้บริหาร, 2550, หน้า ค)
ข้อเสนอแนะ รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมฯ นี้ เป็นรูปแบบที่สร้างและใช้โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม ที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวของจังหวัด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาสถานศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นฐานในลักษณะของการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมนี้ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาและพัฒนาได้อย่างตรงประเด็น รวมทั้งหากจะนำรูปแบบนี้ไปใช้ กับโรงเรียนถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ควรพิจารณาให้ความสำคัญในด้านบุคลากรและคณะทำงานเพราะถ้าครูและบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานมากแล้ว อาจจะต้องเพิ่มระดับมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น นอกจากนั้นอาจต้องปรับวิธีการทำงาน ในคู่มือการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งด้วย และผู้ที่นำไปใช้ต้องคอยดูแล กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจากการวิจัย นี้พบว่า ผู้บริหารและแกนนำ รวมทั้งคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการพบปะพูดคุย ประชุม ปรึกษาหารือ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และมีการถอดประสบการณ์ประจำวัน ซึ่งจะทำให้การใช้รูปแบบนี้มีประสิทธิภาพ





บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 พร้อมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547. (1 ตุลาคม 2547). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (พิเศษ 59 ก).
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549. (11 มกราคม 2549).123 (3 ก) .หน้า 1-3
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. (ม.ป.ป.). สูจิบัตรมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น 2550. กรุงเทพฯ: (ม.ป.ท.)
โกวิทย์ พวงงาม. (ม.ป.ป.). ความคืบหน้าของการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทิศทางที่ ควรจะเป็นไปในอนาคต. สืบค้นเมือ 10 เมษายน 2548, จาก http://www.local.moi.go.th/webst/article2.pdf
ชาญชัย อาจินสมาจาร. (2548). สู่ทิศทางใหม่ของการบริหารการศึกษา. กรุงเทพฯ: ก้าวใหม่.
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549 (17 มกราคม 2549) ราชกิจจานุเบกษา. 123 (4 ก). หน้า 8.
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2546. (4 พฤศจิกายน 2546). ราชกิจจานุเบกษา .เล่ม 120 ตอน 109 ก.
หน้า 5 – 20.
วุฒิสาร ตันไชย. (2551). ทิศทางการปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550. ค้นคืน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/35389/1.
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2549). การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี. ค้นคืนเมื่อ 1 ธันวาคม 2549 จาก http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main31.htm).
สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัด สำนัก นายกรัฐมนตรี (2545). คู่มือปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัด สำนัก นายกรัฐมนตรี (2549). คู่มือการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.). (2549). “การพัฒนาคุณภาพการบริหาร จัดการภาครัฐ เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ”. กรุงเทพฯ: ภารกิจการบริหารการ เปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
สำนักผู้ราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 1 – 12 และ กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2550). การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. อัดสำเนา. ม.ป.ท.
สุทธิพงศ์ ยงค์กมล. (2543). การวิเคราะห์ปัจจัยที่สงผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน. วิทยานิพนธ์ ค.ด., (การบริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร.
Camp, R.F. and other. (1967). Introduction Education Administration. Boston: Allyn and Bacon.

Application of Internet for Secondary Science Education

ABSTRACT

タイにおけるインターネットの中等理科教育への応用
Application of Internet for Secondary Science Education
ヨンユ ヤブントン(スアンブンヨパトム・ランプン中等学校)
Yongyouth Yaboonthong
杉本 良一(鳥取大学教育学部)
Ryoichi Sugimoto
Department of Science Education, Faculty of Education, Tottori University, Japan.
-----------------------------------------

The purpose of this research was to find efficiency of computer assisted instructional (CAI) on the Web for 9th grade of Thai student. The subjects were 10 students from Suanboon Yopatham Lamphun School, Muang Amphur, Lamphun Province (Which is a secondary school to be under the Department of General Education, Ministry of Education, Thailand.) by multistage random sampling. Experimental design is one-group pretest-posttest design. Research instruments used in this study were 1.) Achievement test of Unit 9 which Development by Researcher 2.) Science Lesson; CAI on the Web and 3.) Questionnaire to Check Attitude and Opinion. The achievement test scores were analyzed by using t-test and questionnaire scores were analyzed by using average scores.

The results of this research were as follows:
1. The achievement test scores between pretest- posttest was statistically significant difference at .01 level.
Table 1: The achievements test average scores between pre - posttest and t-test

pretest
posttest
t-test
The achievement test average scores
9.6
18.7
9.481**
N = 10, with df = 9, p < 0.01, t- crisis value = 3.250

2. The average scores of students' opinion after studying through CAI on the Web
are as follows:
2.1 Students' satisfaction for CAI on the Web; average scores = 4.8
2.2 The screen design; beautiful and easy to understand; average scores = 4.5
2.3 The method to use or study with CAI on the Web. It is easy to understand; average scores = 4.3
2.4 The subject matter in CAI on the Web, easy to understand; average scores = 4.5
2.5 The question and answer in CAI on the Web, helps to understand the lesson easier; average scores = 4.8
2.6 The web site, makes student to understand the lesson clearly and motivates them to study more; average scores = 4.7

การพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

การพัฒนา รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
A PROPOSED MODEL OF INTENSIVE PREPAREDNESS AND DEVELOPMENT
BY PARTICIPATION OF NEW CIVIL SERVICE TEACHER, NASAIWITTAYAKOM SCHOOL,
OFFICE OF LOCAL ADMINISTRATIVE ORGANIZATION, LAMPHUN PROVINCE.
----------------------------------------------------------------------------------------
ดร. ยงยุทธ ยะบุญธง*

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และมีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ 1) เพื่อสร้างรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม และ 2) เพื่อทดลองและศึกษาผลการใช้ รูปแบบฯ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มี 4 ช่วง 9 ขั้นตอน ใช้เวลาในการศึกษา 2 ปี (1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552) กับครูผู้ช่วยจำนวน 12 คน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการและแนวคิด 2) วิธีการพัฒนามี 2 ลักษณะ คือ การฝึกงานในหน้าที่ และการฝึกนอกเหนือจากการฝึกงานในหน้าที่ 3) สื่อและเอกสารประกอบ 4) วิธีการและเครื่องมือ การประเมินและรายงานผล 5) คู่มือฯ โดยดำเนินการอย่างมีขั้นตอน และมีวิธีการพัฒนาและประเมินอย่างหลากหลาย และบูรณาการ มีการลงมือปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประเมินผล โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนา ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย
2. ครูผู้ช่วยทั้ง 12 คน ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยมีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินทุกครั้ง และมีคะแนนความก้าวหน้าของการประเมินตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 8 ทั้งหมวดการปฏิบัติตนและหมวดการปฏิบัติงานและรวมกันเพิ่มขึ้นตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อครูผู้ช่วย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ทั้งสองหมวดอยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจต่อการจัดแสดงผลงานอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบฯ ในมิติของกระบวนการ พบว่า ครูผู้ช่วย และคณะกรรมการฯ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จากครูผู้ช่วยและคณะกรรมการฯ สรุปได้ว่า มีอรรถประโยชน์ มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินคู่มือฯ จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน ในด้านเนื้อหาสาระฯ การมีส่วนร่วม ความเป็นไปได้ และประโยชน์ในการนำไปใช้ พบว่า มีค่าความสอดคล้อง (IOC) อยู่ในระหว่าง 0.85 – 1.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 0.7
Abstract
The main objective of the proposal is to create a model focusing on Intensive Preparedness and Development geared towards the training of New Civil Service Teachers at Nasaiwittayakom School in the office of the Local Administrative Organization, located in Lamphun Province. The proposal specifies the following: 1) To create a model of Intensive Preparedness and Development. This is a accomplished by full participation. 2) To conduct experiment and assess the results of the study.
The objectives of the proposal will be accomplished through research methodology and a full implementation of Action Research. The proposal has four sections and nine steps to be accomplished within two years, starting 1st of October, 2007 to the 30th of September, 2009 with the 12 new civil service teachers who participated in the experiment, and here are the results:
1. The model consists of the Intensive Preparedness and Development through participation by the New Civil Service Teachers. The principle and the idea, Two methods of development: On-the-job training and off-the-job training. Using of media and paper Method, evaluation tool and the report. The manual describes The Model of Intensive Preparedness and Development through participation of the New Civil Service Teachers. It consists of step by step process namely: Methods of development; several evaluations and integrations along with the Action Research includes the participatory and developmental evaluation to follow.
2. All of the new civil service teachers passed the Intensive Preparedness and Development Criterion evaluation and the 1st through the 8th progressive scores was increased in the self practice and work practice part. The new civil service teachers scored at the high level at the end of the course and also at the project exhibition.
3. The evaluation results through the use of the Model of Intensive Preparedness and Development by the participation of the new civil service teachers found out that the new teachers and the committee members were satisfied all the requirements as stated in the model. They all scored at the highest level.
4. The evaluation results of the Intensive Preparedness and Development Model through the participation of the new civil service teachers concluded that all participants scored at the highest level in the following criterion: Usability; Appropriateness; Possibility; and applicability. The results of the seven professors, using the same criterion (usability, appropriateness, possibility, and applicability) and as shown in the Index of Consistency (IOC), recorded a score of 0.85 – 1.00. This score is much higher than the criterion score of 0.70.

Key words: Model of Intensive Preparedness and Development by Participation of New Civil Service Teacher, Teacher Development, Action Research,

บทนำ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของสถานศึกษาของไทยประกอบด้วยปัจจัยหลายประการทั้ง งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การบริหารจัดการรวมทั้งครูและบุคลากรทาง การศึกษา ในบรรดาปัจจัยดังกล่าวครูและบุคลากรทางการศึกษานับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ดังเช่น รุ่ง แก้วแดง (2543, หน้า 124) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่มีวันสำเร็จ หากไม่มีการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา และโกวิท ประวาลพฤกษ์ (2542, หน้า 91) กล่าวไว้เช่นกันว่า ความสามารถของครูเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปทำนายหรือคาดหมายคุณภาพของนักเรียนได้โดยตรง ครูที่มีความสามารถสูงย่อมชำนาญในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนลงมือกระทำ อันนำไปสู่ผลการเรียนที่แท้จริง แต่ถ้าครูมีความสามารถต่ำ ก็เป็นแต่เพียงผู้บอกความรู้ นักเรียนก็เกิดแต่ความรู้ความจำ มีนิสัยในการท่องจำ คอยฟังคำบอกจากครู ตัดสินใจเองไม่เป็น นำไปสู่คุณภาพประชากรที่ไม่เป็นผู้ผลิตผลงาน นอกจากนี้ ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา และคณะ (ม.ป.ป. หน้า 5) ก็ได้กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า การจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนจะมีคุณภาพเพียงใดนั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ คุณภาพการสอนของครู ถ้าหากครูมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างดี เยาวชนก็ย่อมจะได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากครูมีสมรรถภาพในการปฏิบัติงานก็ย่อมจะสามารถให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างมีคุณภาพ
โรงเรียนนาทรายวิทยาคม เป็นโรงเรียนถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 มีครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอย้ายออกจากผลของการถ่ายโอนโรงเรียนจำนวน 12 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 15 คน ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โรงเรียนได้รับการบรรจุแต่งตั้งครูใหม่จำนวน 12 คนบรรจุเมื่อ 1 ตุลาคม 2550 เพื่อทดแทนครูที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน คิดเป็นร้อยละ 95 ของครูทั้งหมด จึงต้องจัดให้มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตามหลักเกณฑ์ คณะกรรมการกลางเทศบาล กำหนด ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่บรรจุและแต่งตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะสามารถบรรจุแต่งตั้งเป็นครู คศ.1 ต่อไป
ในส่วนของหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม กำหนดให้เป็นหลักสูตรบูรณาการ โดยมีหลักการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจตคติ และบุคลิกลักษณะในการปฏิบัติวิชาชีพ ทั้งการปฏิบัติตน และการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับวิชาชีพให้แก่ครูผู้ช่วย โดยคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สามารถปรับหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระได้ตามความเหมาะสม หลักสูตรฯ ได้กำหนดโครงสร้างหลักสูตร โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ การปฏิบัติตน และการปฏิบัติงาน มีคู่มือการประเมินผล แบบประเมิน และแบบสรุปผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม แต่ในส่วนของวิธีการพัฒนา กำหนดให้ใช้วิธีการที่หลากหลาย ตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้ การสอนแนะโดยครูพี่เลี้ยง การสอนแนะโดยผู้บริหาร การศึกษาด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การศึกษาด้วยกรณีตัวอย่าง การปฏิบัติจริง ฯลฯ ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้างานวิจัยต่าง ๆ ผู้วิจัยยังไม่พบการพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม สำหรับครูผู้ช่วย และยังไม่พบแนวทางปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลให้มาตรฐานการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มแตกต่างกันไป
จากประเด็นปัญหาและความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูอย่างเข้มและจากสภาพของโรงเรียนที่มีครูบรรจุใหม่เกือบทั้งหมดดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ผู้วิจัยในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จึงได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องและครูผู้ช่วยได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย ของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนขึ้น เพื่อสร้างรูปแบบฯ ที่มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีอรรถประโยชน์ และสามารถใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสถานศึกษาสังกัดอื่น ๆ ที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
แนวคิด ทฤษฎี และกรอบแนวคิดการวิจัย
แนวคิดและทฤษฎี ที่นำมาใช้ในการวิจัย ได้แก่ หลักการพัฒนาครู ของ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (2549, หน้า 14) มาประยุกต์ใช้ จำนวน 5 ข้อ ดังนี้ 1. การพัฒนาต้องเกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของครูผู้ช่วย 2. การพัฒนาต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มนโยบายของโรงเรียน และหน่วยงานต้นสังกัดกำหนด 3. หลักการการพัฒนาที่มีวิธีการที่หลากหลายเหมาะสม และยืดหยุ่น 4. การพัฒนาต้องสอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ที่ปฏิบัติที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน และ 5. การพัฒนาต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียน ในส่วนกระบวนการพัฒนาครู ได้เลือกกระบวนการของ แคสเตอร์ และจุง (Castetter and Young, 2000) ใช้หลักการมีส่วนร่วม การสอนแบบบูรณาการ จิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และการปฏิบัติจริง สรุปเป็นกรอบแนวคิดได้ดังนี้
แผนภาพ 8 แสดงกรอบแนวคิดการวิจัย

รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

การมีส่วนร่วม
หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตามวิธีการหลักเกณฑ์ของ คณะกรรมการกลางเทศบาล
วิเคราะห์เอกสาร, พ.ร.บ. กฎหมายต่าง ๆ
การบูรการ
เอกสารหมายเลข 1
เอกสารการมอบหมายงานครูผู้ช่วย
คู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย

เอกสารหมายเลข 4
เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ และอบรมเชิงปฏิบัติการ
กรอบแนวคิดการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
เอกสารหมายเลข 2
เอกสารชุดฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการ
เอกสารหมายเลข 3
สื่อ CD-ความรู้สำหรับการศึกษาด้วยตนเอง















วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้ เพื่อสร้าง ทดลองและศึกษาผลการใช้ รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม
ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยแบ่งวิธีการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง รวม 9 ขั้นตอน คือ ช่วงที่ 1 การวิเคราะห์รูปแบบกระบวนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา มี 3 ขั้นตอน ช่วงที่ 2 การสร้างรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย มี 3 ขั้นตอน ช่วงที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย มีขั้นตอนเดียว และช่วงที่ 4 การประเมินประสิทธิภาพรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วยระยะเวลา 2 ปี
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ ครูผู้ช่วย จำนวน 12 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ในระหว่างปีการศึกษา 2550 – 2552
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ในระหว่างปีการศึกษา 2550 – 2552 ที่ได้จากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างตามวิธีดำเนินการวิจัยในแต่ละช่วงและแต่ละขั้นตอน เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้ มีทั้งหมด 4 ช่วง และ 9 ขั้นตอน
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หมายถึง แบบแผน ขั้นตอน วิธีการ การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม สำหรับครูผู้ช่วย ที่ออกแบบโดยใช้เทคนิควิธีการ เอกสารและสื่อประกอบที่หลากหลาย มีการบูรณาการอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงานในหน้าที่และงานนอกเหนือจากงานในหน้าที่ ทั้งลักษณะกลุ่มและรายบุคคล รวมทั้งการมีส่วนร่วมของครูผู้ช่วย ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการพัฒนา ปฏิบัติตามแผน และประเมินผล ยึดหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2549 รวบรวม เรียบเรียง และจัดทำเป็นคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
2. ครูผู้ช่วย หมายถึง ครูที่ผ่านการคัดเลือก สรรหา บรรจุ แต่งตั้ง เป็นครูผู้ช่วยของ โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ตาม
คำสั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนที่ 977/2550 เรื่อง การบรรจุแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ลงวันที่ 27 กันยายน 2552 จำนวน 5 คน และคำสั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ที่ 985/2550 เรื่อง การบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 27 กันยายน 2552 จำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 12 คน
3. โรงเรียน หมายถึง โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เดิมสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา ได้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกและแห่งเดียวของจังหวัดลำพูน เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
4. ประสิทธิภาพของรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หมายถึง ผลจากการประเมินรูปแบบฯ ด้านกระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ ดังนี้
4.1 ผลประเมินประสิทธิภาพในมิติของผลผลิตและผลลัพธ์ ได้แก่
4.1.1 มิติของผลผลิต คือ ครูผู้ช่วยทุกคนที่ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม มีคุณภาพตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.1.2 มิติของผลลัพธ์ คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นฐานของโรงเรียน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ต่อครูผู้ช่วย และความคิดเห็นต่อการแสดงผลงานครูเมื่อสิ้นระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
4.2 ผลจากการประเมินประสิทธิภาพในมิติของกระบวนการได้แก่ ความถูกต้องด้านเนื้อหาสาระ การมีส่วนร่วม ความเป็นไปได้ และมีประโยชน์ในการนำไปใช้ ของคู่มือของรูปแบบฯ ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และความพึงพอใจของครูผู้ช่วย ต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
5. คณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หมายถึง คณะบุคคลที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มจำนวน 3 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1 คน เป็นกรรมการ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งครู ที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแล การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประเมินผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนา ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย ของหลักเกณฑ์วิธีการกำหนดไว้
6. หลักสูตร หมายถึง หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม สำหรับผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วย ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2549
7. คู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย หมายถึง เอกสารที่จัดทำขึ้นสำหรับคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ครูพี่เลี้ยงและครูผู้ช่วย ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับครูผู้ช่วย ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ของหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน 2549 คือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจคติ และบุคลิกลักษณะในการปฏิบัติวิชาชีพ ทั้งการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับวิชาชีพครู ผ่านเกณฑ์การประเมิน และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกอบด้วย สรุปสาระสำคัญและส่วนสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้ส่วนที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย เหตุผลและความจำเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย หลักเกณฑ์วิธีการ หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และคำสั่งแต่งตั้งครูพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาดูแลระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม วัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือ ขอบข่ายในการใช้ และคำนิยามศัพท์ ส่วนที่ 2 แนวคิดและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมฯ ประกอบด้วย การพัฒนาครู ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักการมีส่วนร่วม และการสอนแบบบูรณาการ ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์หลักสูตรและกระบวนการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย การวิเคราะห์หลักสูตรฯ และกำหนดจุดประสงค์แต่ละเนื้อหา วิธีการและขั้นตอนพัฒนาครูที่นำมาใช้ แผนภูมิกระบวนการ ส่วนที่ 4 การประเมินและรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย ปฏิทิน วิธีการ เครื่องมือ การประเมิน และการรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และส่วนที่ 5 เอกสารประกอบคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ประกอบด้วย เอกสารหมายเลข 1 เอกสารการมอบหมายงานครูผู้ช่วย เอกสารหมายเลข 2 เอกสารชุดฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการ เอกสารหมายเลข 3 สื่อ CD-ความรู้สำหรับการศึกษาด้วยตนเอง และเอกสารหมายเลข 4 เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ และอบรมเชิงปฏิบัติการ
8. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม หมายถึง นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นฐานของโรงเรียน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ปีการศึกษา 2550 - 2552
เครื่องมือ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์อย่างมีโครงสร้าง แบบสังเกต แบบวิเคราะห์ข้อมูล แบบตรวจสอบรายการองค์ประกอบของรูปแบบ แบบประเมินสื่อการเรียนด้วยตนเอง แบบประเมินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม แบบสรุปและรายงานผลการดำเนินงาน กิจกรรมบูรณาการ แบบประเมินความสอดคล้อง
วิธีการรวบรวมข้อมูล สังเกต สัมภาษณ์ สอบถาม ตรวจสอบรายการ วิเคราะห์และลงข้อสรุป
การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติพื้นฐาน วิเคราะห์และลงข้อสรุป
สรุปผลวิจัย
1. รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วยที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการและแนวคิด 2) วิธีการพัฒนามี 2 ลักษณะ คือ การฝึกงานในหน้าที่ และการฝึกนอกเหนือจากการฝึกงานในหน้าที่ 3) สื่อและเอกสารประกอบ 4) วิธีการและเครื่องมือ การประเมินและรายงานผล 5) คู่มือฯ โดยดำเนินการอย่างมีขั้นตอน และมีวิธีการพัฒนาและประเมินอย่างหลากหลาย และบูรณาการ มีการลงมือปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประเมินผล โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนา ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย ดังแผนภูมิ 1 แสดงกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มฯ
2. ผลการประเมินประสิทธิภาพ ของรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วมสำหรับครูผู้ช่วย ดังนี้
2.1 ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบฯ ในมิติของกระบวนการ พบว่า ครูผู้ช่วย และคณะกรรมการฯ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม อยู่ในระดับมากที่สุด
2.2 ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบฯ ในมิติของผลผลิตและผลลัพธ์ พบว่า ครูผู้ช่วยทั้ง 12 คน ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยมีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินทุกครั้ง และมีคะแนนความก้าวหน้าของการประเมินตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 8 ทั้งหมวดการปฏิบัติตนและหมวดการปฏิบัติงานและที่รวมกันเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อครูผู้ช่วย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ทั้งสองหมวดอยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจต่อการจัดแสดงผลงานอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จากครูผู้ช่วยและคณะกรรมการฯ สรุปได้ว่า มีอรรถประโยชน์ มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินคู่มือฯ จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน ในด้านเนื้อหาสาระฯ การมีส่วนร่วม ความเป็นไปได้ และประโยชน์ในการนำไปใช้ พบว่า มีค่าความสอดคล้อง (IOC) อยู่ในระหว่าง 0.85 – 1.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 0.7
คู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วมสำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย เหตุผลและความจำเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย วัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือ หลักเกณฑ์วิธีการ หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และคำสั่งแต่งตั้งครูพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาดูแลระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ขอบข่ายในการใช้ และคำนิยามศัพท์
ส่วนที่ 2 แนวคิดและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมฯ ประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาวิชาชีพครู ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักการมีส่วนร่วม และการสอนแบบบูรณาการ
ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์หลักสูตรและกระบวนการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย การวิเคราะห์หลักสูตรฯ และกำหนดจุดประสงค์แต่ละเนื้อหา วิธีการและขั้นตอนพัฒนาครูที่นำมาใช้ และแผนภูมิกระบวนการ
ส่วนที่ 4 การประเมินและรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย ปฏิทิน วิธีการ เครื่องมือ การประเมิน และการรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
ส่วนที่ 5 เอกสารประกอบคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ประกอบด้วย เอกสารหมายเลข 1 เอกสารการมอบหมายงานครูผู้ช่วย เอกสารหมายเลข 2 เอกสารชุดฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการ เอกสารหมายเลข 3 สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเอกสารหมายเลข 4 เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ และตารางการอบรมเชิงปฏิบัติการ

ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาทบทวนระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ว่าควรคงไว้ 2 ปี หรือควรปรับลดลง ซึ่งอาจดำเนินการในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนี้
1.1 คงระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปีไว้ โดยให้มีการประเมินครูผู้ช่วยอย่างต่อเนื่อง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละครั้ง ที่กำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ในปีถัดไป และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีเดียวกัน และสอดคล้องกับการปฏิบัติงานในแต่ละภาคการศึกษา
1.2 ลดระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มลงเหลือ 1 ปี โดยให้มีการประเมินครูผู้ช่วยอย่างต่อเนื่อง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง รวม 2 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละครั้ง ที่กำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ในปีถัดไป และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีเดียวกัน และสอดคล้องกับการปฏิบัติงานในแต่ละภาคการศึกษา
2. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในส่วนของกรรมการที่มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถานศึกษา โดยขอเสนอให้เป็นกรรมการสถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติให้มากที่สุด
3. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาปรับเกณฑ์การตัดสินผลการประเมินครูผู้ช่วยให้สูงขึ้น โดยช่วงแรกอาจใช้เกณฑ์ตัดสินการผ่านร้อยละ 60 และช่วงหลังใช้เกณฑ์การตัดสินการเกณฑ์การผ่านร้อยละ 75
4. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาทบทวน วิเคราะห์ หรือบูรณาการ เนื้อหาตามหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ซึ่งมีอยู่ 2 องค์ประกอบ คือ หมวดที่ 1 การปฏิบัติตน และหมวด 2 คือ การปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับ สมรรถนะครู ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาครูให้มี วิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นต่อไป
ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้
1. การนำรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ไปประยุกต์ใช้นั้น ควรศึกษากระบวนการ ขั้นตอน วิธีการพัฒนา การประเมิน และสรุปรายงาน ให้ชัดเจน รวมทั้งสามารถปรับใช้ให้เข้ากับบริบท สภาพของแต่ละสถานศึกษา
2. การนำหน่วยฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการตามรูปแบบฯ นี้ ไปประยุกต์ใช้ อาจนำเฉพาะแนวคิดวิธีการ ส่วนกิจกรรม อาจปรับเปลี่ยนไปตามสภาพบริบทของแต่ละโรงเรียน
ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยใช้กรอบแนวคิดของนักการศึกษาคนอื่น ๆ มากำหนดเป็นรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มบ้าง
2. ควรมีการศึกษา และเปรียบเทียบ การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับครูผู้ช่วย ด้วยกระบวนการวิจัย หรือ รูปแบบอื่น ๆ เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
3. ควรทำการศึกษาวิจัย เพื่อสรุปเป็นแนวปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับครูผู้ช่วย เพื่อเสนอต่อหน่วยนโยบายต่อไป

บรรณานุกรม
โกวิท ประวาลพฤกษ์. (2542). พัฒนาการศึกษาแท้และแฟ้มพัฒนางาน การพัฒนาการศึกษา ตาม แนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรุงเทพฯ : บริษัทเดอะมาสเตอร์ กรุ๊ปแมแนจเม้นท์ จำกัด.
รุ่ง แก้วแดง. (2543). การศึกษากับกำลังอำนาจของชาติ. สกศ.

ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา และคณะ (2530). การวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูให้มี สมรรถภาพที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา. สืบค้นจาก http://library.uru.ac.th/dbresearch/images/L14.htm วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2550.
สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา. ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูและ บุคลากร ทาง การศึกษา ปี 2549 -2551. อัดสำเนาเย็บเล่ม, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
Castetter, W.B. and Young, I.P. (2000). The Human resource function in education
administration. (7 ed.) New Jersey : Prentice – Hall.