วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ONET-NASAI

การนำผลคะแนน O-NET ไปใช้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนภายในโรงเรียน นาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

บทความ เรื่อง การนำผลคะแนน O-NET ไปใช้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนภายในโรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการที่โรงเรียนได้ให้ความสำคัญต่อการสอบ O-NET และการนำผลไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลดีขึ้นตามลำดับ โดยจะขอนำเสนอ ตามหัวข้อ ดังนี้ 1) สภาพบริบทของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม 2) การให้ความสำคัญของการสอบ O-NET 3) การนำผลคะแนน O-NET ไปใช้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนภายในโรงเรียน 4) คะแนน O-NET ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 5) ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนาในปีต่อไป 6) บทสรุป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. สภาพบริบทของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม
พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียม ศรีหริภูญชัย เป็นคำขวัญของจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในทางภาคเหนือของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดลำพูนมีประชากร 409,056 คน (สำนักงานจังหวัดลำพูน, http://www.lamphun.go.th/index2.php) ประกอบด้วย 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านธิ อำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอทุ่งหัวช้าง และอำเภอลี้ และจากข้อมูลการศึกษา จังหวัดลำพูนมีการจัดระบบการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน มีสถานศึกษาในระบบ ตั้งแต่อนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 2 เขตพื้นที่ การศึกษาในระบบโรงเรียน มีสถานศึกษาทั้งหมด 355 แห่ง ระดับประถมศึกษา 275 แห่ง สถานศึกษาเอกชน 26 แห่ง ระดับมัธยมศึกษา 17 แห่ง อาชีวศึกษา 4 แห่ง ร.ร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญ 10 แห่ง กองการศึกษาส่วนท้องถิ่น (เทศบาล) 7 แห่ง และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย 1 โรงเรียนนาทรายวิทยาคม ตั้งอยู่ในอำเภอลี้ ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาช่างยนต์และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นโรงเรียนมัธยมแห่งแรกและแห่งเดียวที่ถ่ายโอนฯ ในปีการศึกษา 2553 นี้ มีการจัดการเรียนการสอน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในระดับชั้น ม.3 และ ม.6 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2545 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2546) ในปีการศึกษา 2553นี้ มีจำนวนนักเรียน 20 ห้องเรียน 519 คน มีข้าราชการสายบริหาร จำนวน 1 คน สายผู้สอน 16 คน ครูอัตราจ้างตามภารกิจ จำนวน 14 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ – การเงินบัญชี จำนวน 2 คน นักการภารโรงจำนวน 2 คน และ พนักงานขับรถจำนวน 1 คน

2. การให้ความสำคัญของการสอบ O-NET
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนไว้ 3 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ละระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียน
1. การวัดผลและประเมินผลระดับชั้นเรียน เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ คุณธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์ เนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด
2. การประเมินผลระดับสถานศึกษา เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนที่เรียนในชั้นปีสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้น คือ ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6
3. การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Test หรือ O - NET) เป็นการทดสอบความรู้ทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ของผู้เรียนที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีที่ 6 ทุกคน ทุกสังกัด ต้องเข้ารับการทดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรียกย่อว่า สทศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกที่ทำหน้าที่ในการประเมินระดับชาตินั่นเอง
โรงเรียนนาทรายวิทยาคม ได้ให้ความสำคัญของการสอบ O-NET โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎี 3 หลัก คือ หลักคิด (หลักการ วิสัยทัศน์ และนโยบาย) หลักวิชา (ความรู้และประสบการณ์) และหลักปฏิบัติ ดังนี้ มีการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ กำหนดนโยบาย และใช้หลักการ ดังนี้ หลักการพัฒนาคุณภาพ (Quality Management) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักการ 3 องค์ประกอบ (3-Es) และหลักความเป็นวิชาการ (Academic) มีหลักปฏิบัติ คือ จัดให้มีภาระงานด้านนี้ไว้ในโครงสร้างการบริหารสถานศึกษา มีผู้รับผิดชอบ คณะทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่ มีการจัดทำแผนระยะ 3 ปี แผนปฏิบัติการประจำปี มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด เครื่องมือ และเกณฑ์การวัด ไว้อย่างชัดเจน

3. การนำผลคะแนน O-NET ไปใช้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนภายในโรงเรียน
โรงเรียนได้ร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย กำหนดวิสัยทัศน์ ด้านการเรียนการสอน ไว้ดังนี้ “ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ให้ความสำคัญทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านคุณธรรม และเจตคติ สามารถบูรณาการ นำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาและการดำรงชีวิต ตลอดจน มุ่งเน้นในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยของครู เพื่อนำผลมาพัฒนาการเรียนการสอนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น” และได้กำหนดนโยบาย ดังนี้
“สูงกว่ามาตรฐาน คือ เป้าหมาย ขวนขวาย ข้อมูลสนเทศ ครบ
เกณฑ์ คัด แยก คน ชัด พัฒนา ส่งเสริม แก้ไข ตรงจุด รุดหน้า ทุกตัวชี้วัด”
พันธกิจ (Mission) พันธกิจหลักที่โรงเรียนเน้นในการดำเนินการมีดังนี้
1. เป็นสถานศึกษาต้นแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานคุณภาพของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. พัฒนากระบวนการคิด เพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการแสวงหาความรู้
3. ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้
4. พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา เพื่อบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ยุทธศาสตร์ (Strategy)
1. การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
2. จัดหาและพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
3. พัฒนาระบบเพื่อการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
4. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนนำไปสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบ
5. การพัฒนาการให้บริการแก่ชุมชน ท้องถิ่นและธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม

การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อไปสู่เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ ด้านการเรียนการสอนได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. การศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ คู่มือสำหรับผู้บริหารในการนำผลการสอบ O-NET ไปวางแผนปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาครู-นักเรียน (สทศ, 2550)
2. การศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสภาพบริบทด้านการเรียนและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน (การวิเคราะห์สภาพบริบทด้านการเรียน โรงเรียนนาทรายวิทยาคม, อัดสำเนา)
3. การวางแผนยุทธศาสตร์กลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มฯ
4. การปฏิบัติการตามแผนดำเนินงาน
5. การประเมินระหว่างการปฏิบัติ
6. การนิเทศ กำกับ ติดตาม และรายงาน
7. การประเมินเมื่อสิ้นสุด
ในขั้นตอน การศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ คู่มือสำหรับผู้บริหารในการนำผลการสอบ O-NET ไปวางแผนปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาครู-นักเรียน ของสถาบันทดสอบแห่งชาติ (สทศ, 2550) โดยผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารงานวิชาการ ซึ่งมีผู้รับผิดชอบงานประมวลผลการเรียนรู้เป็นเลขาคณะทำงาน จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพบริบทและเวลาของโรงเรียนให้มากที่สุด ตามแนวปฏิบัติเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน และขั้นตอนการพัฒนาครูและนักเรียน (สทศ, 2550, หน้า 10 - 11) หลังจากนั้นได้มอบแนวทางที่จัดทำขึ้น และคู่มือฯ ของ สทศ.ฯ ดังกล่าวให้ครูทุกท่าน ทางอีเมล์ และจัดประชุมคณะครูทุกท่าน ได้นำไปศึกษาและปฏิบัติตาม โดยเพิ่มเติมรายละเอียดในการปฏิบัติบางอย่าง
ขั้นตอนการศึกษา วิเคราะห์ ประเมินสภาพบริบทด้านการเรียนและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน (SWOT) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและสำคัญอย่างยิ่งขั้นตอนหนึ่ง โดยจัดประชุมสัมมนา อภิปรายกลุ่ม ของคณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา ทั้งโดยรวมและแยกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และจุดที่ต้องพัฒนา ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยการนำผลการสอบวัดผลปลายภาคในปีการศึกษานั้น ๆ รวมทั้งผลสอบ O-NET มาวิเคราะห์ ย้อนกลับไป 3 – 5 ปี เพื่อดูแนวโน้ม มาตรฐานและตัวชี้วัดที่นักเรียนอ่อนด้อย ตรวจสอบโครงการสอน และแผนการจัดการเรียนรู้ ประเมินสภาพบริบทที่มีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน บันทึก หาแนวทาง ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในโอกาสต่อไป และจัดหา จัดสร้าง นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้นยังได้จัดหาคู่มือการวัดและประเมินผลของสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ เพื่อมอบให้แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้ศึกษา แนวทางการออกแบบทดสอบ และจัดฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการจัดทำแบบทดสอบตามแนวทางของ สทศ. และการวิเคราะห์แบบทดสอบของครูในแต่ละภาคเรียนโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
ขั้นตอนการวางแผนกลยุทธ์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยครูในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดทำแผนงาน โครงการ เพื่อแก้ไข และพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้เพิ่มขึ้น นำเสนอต่อกลุ่มใหญ่ ทำข้อตกลงกับผู้บริหารโดยหัวหน้ากลุ่มฯ และจัดทำเป็นประกาศโรงเรียน ติดไว้ในที่ที่ทุกคนได้เห็นทุกวัน
ขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน โดยเลขาโครงการฯ หรือ กิจกรรม ซึ่งมีทั้งการจัดในลักษณะการบูรณาการ หรือจัดขึ้นเป็นการเฉพาะ มีทั้งที่จัดเป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มระดับชั้น กลุ่มเล็ก และรายบุคคล การจัดกิจกรรมต่าง ๆ จัดให้มีอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ตามระบบดูแลช่วยเหลือ และระบบการจัดทำสารสนเทศที่เป็นปัจจุบัน และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คัด แยก กลุ่มนักเรียน ตามตัวชี้วัด ทั้งด้านการเรียน และมาตรฐานคุณภาพด้านผู้เรียน กำหนดผู้รับผิดชอบพัฒนาและแก้ไขปัญหา เป็นการพัฒนาอย่างองค์รวมและเฉพาะ ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ด้านสุขภาพกาย ค่า BMI ของนักเรียน แยกออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น ผอมมากที่สุด ผอมปานกลาง และผอม กลุ่มปกติ กลุ่มท้วม กลุ่มอ้วน กลุ่มอ้วนมาก และหาแนวทางแก้ไข ส่งเสริม อย่างเป็นรูปธรรม ด้านการอ่าน แยกออกเป็น 5 ระดับ และจัดคลินิก เพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้คาบอิสระ การส่งเสริมวิชาการ และกิจกรรมชุมนุม พัฒนาผู้เรียนมาแก้ปัญหา โดยมีทีมครูและเพื่อน ๆ ที่มีศักยภาพมาช่วยดูแล เป็นต้น ทำให้กิจกรรมนี้มีความชัดเจน เปรียบเหมือนมีหมอเฉพาะทางให้การรักษาโรคแต่ละโรคนั่นเอง
กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน พี่สอนน้อง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 เป็นการใช้เทคนิคการจัดกลุ่มนักเรียนเพื่อมาช่วยกันด้านการเรียน โดยมีครูแต่ละท่านรับผิดชอบอีกชั้นหนึ่ง เริ่มจากคู่เก่ง – อ่อน (2 คน - คู่บัดดี้) 2 คู่ เป็นกลุ่มเล็ก (4 คน) ในระดับชั้น ม.3 มีพี่เลี้ยงจาก ม.4 และ ม.5 ที่เรียนเก่งมาเป็นพี่เลี้ยง 1 คน และครูจะรับผิดชอบดูแล นักเรียนกลุ่มเล็ก 1 – 2 กลุ่ม รวม (4 – 8 คน) เพื่อให้คู่บัดดี้ช่วยกันดูแลเรื่องกิจกรรมทางการเรียน โดยมีครูที่ปรึกษากลุ่มติดตามอย่างใกล้ชิด นักเรียนทุกกลุ่มจะต้องปฏิบัติกิจกรรมการยกระดับผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน และเข้าพบครูที่ปรึกษาทุกเช้าก่อนการเข้าเรียนตามปกติ จัดกิจกรรมการติวข้อสอบร่วมกัน ให้คำปรึกษาสำหรับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่มีปัญหา ทำให้นักเรียนในกลุ่มมีความรักใคร่สามัคคีและติดตามผลการเรียนของตนเองอย่างใกล้ชิด
โครงการสอนเสริมแบบเข้มเพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบระดับชาติ(O - NET) เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง จากปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ในแต่ละปีมีการเพิ่มกิจกรรมให้เข้มข้นมากขึ้น โดยในปีการศึกษา 2550 มุ่งพัฒนาเฉพาะนักเรียนที่อยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยการเน้นการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นสำคัญ ปีต่อมามีการสอนเสริมแบบเข้มแก่นักเรียนทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 โดยจัดให้มีการเรียนนักเรียนชั้น ม.2 และ ม.5 ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน (มีนาคม – เมษายน) เพื่อให้มีการเรียนการสอนเนื้อหาให้จบหลักสูตรก่อนเดือนธันวาคมของแต่ละปี หลังจากนั้นจัดให้มีการทบทวนความรู้ทั้งในระดับช่วงชั้น (ม.1- 3 และ ม. 4 -6) ในช่วงเดือนมกราคม ก่อนมีการทดสอบระดับชาติ ในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี
ในขั้นการเตรียมการสอนเสริมแบบเข้ม มีการประชุมชี้แจง และขอความเห็นชอบจากผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนชั้น ม. 2 และ ม. 5 ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษานั้น ๆ รวมทั้งผู้ปกครองของนักเรียน ให้ได้รับทราบและปฏิบัติอย่างถูกต้อง ตรงกัน ในการประชุมแต่ละกลุ่ม ผู้บริหารสถานศึกษาได้เป็นผู้แจ้งจุดประสงค์ กิจกรรมตามโครงการ พร้อมกับขอความร่วมมือจากนักเรียนและผู้ปกครองโดยการทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ ในขั้นการดำเนินการสอนเสริมแบบเข้ม ได้ประสานขอความร่วมมือครูจากสถานศึกษาอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การสอน ในสาขาวิชานั้น ๆ และเป็นที่รู้จัก มาเป็นผู้สอน กำหนดเป็นตารางเช้า - บ่าย เน้นในด้านแบบทดสอบตามมาตรฐานการศึกษา โดยเริ่มมีการสอนในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม ของทุกปี
โครงการทดสอบวัดความรู้ก่อนการทดสอบระดับชาติ (Pre O-NET) มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดผลและเตรียมความพร้อมแก่นักเรียนโดยใช้ข้อสอบของ สทศ. ที่ดาวน์โหลดมา และคัดเลือกให้เหมาะสมทั้งเชิงปริมาณในแต่ละมาตรฐาน เวลา และอื่น ๆ จัดสอบให้เหมือนกับการสอบจริง ตามตารางสอบของ สทศ. โดยครูทุกคนให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นมาก มีการประชุมก่อนการเริ่มโครงการ เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกัน ในส่วนของนักเรียนได้มีการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นปี การอ่านหนังสือ อุปกรณ์การสอบ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน การให้รางวัลสำหรับนักเรียนที่มีคะแนนสอบสูงสุดในแต่ละกลุ่มรายวิชา นักเรียนในกลุ่มเป้าหมายเข้าสอบทุกคน และมีการประกาศผลการสอบอีกวันหนึ่งให้นักเรียนทราบและผู้บริหารสถานศึกษาได้มอบทุนการศึกษาและเกียรติบัตรแก่นักเรียนที่ได้ระดับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มรายวิชา ในส่วนของครูนำผลการสอบมาปรับปรุง เพิ่มเติมในส่วนที่นักเรียน ยังมีปัญหา และจัดกิจกรรมเพิ่มเพิ่มเติม จนถึงสอบจริง
จากตัวอย่างกิจกรรมและโครงการดังกล่าวข้างต้น โรงเรียนนาทรายวิทยาคม ถือว่าเป็นกิจกรรมเด่นที่เป็นปัจจัยสนับสนุน ต่อระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนและผลคะแนนสอบในระดับชาติของแต่ละปีการศึกษา และนอกจากนี้ก็ยังมีงาน กิจกรรม โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอันเป็นตัวกระตุ้นและสนับสนุนการพัฒนาทางการศึกษาที่ได้ปฏิบัติเป็นกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นใหม่ทุกๆ ปี อาจยกตัวอย่างได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ เริ่มต้นจากการติดตาม นิเทศ แผนการจัดการเรียนรู้ของผู้อำนวยการโรงเรียนโดยสุ่มตรวจในช่วงเปิดภาคเรียนว่าครูท่านใดดำเนินการสอนตามแผนการสอน ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนการสอนอย่างย่อ และรายชั่วโมง โดยแผนดังกล่าวต้องอยู่ในห้องเรียน พร้อมรับการสุ่มตรวจสอบโดยผู้อำนวยโรงเรียน เมื่อสิ้นภาคเรียน มีการประชุมครูเพื่อดูว่า แผนการสอนรายชั่วโมงใด ใช้แล้วมีปัญหา ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงก็ให้ปรับปรุง หรือปัญหาส่วนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนมีอะไรบ้าง เพื่อหาแนวทางแก้ไข จัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดองค์กรปกครองส่วนถิ่นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ในช่วงใกล้สิ้นปีการศึกษา ทั้งนี้มีการเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2552 รวมทั้งจัดให้มีชั่วโมงสอนเสริมในตารางเรียนของนักเรียนทุกระดับชั้น มีการพัฒนานักเรียนเป็นกลุ่มๆ โดยการจัดกิจกรรมการเข้าค่ายสอนเสริมใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ของนักเรียนแต่ละระดับชั้น เพิ่มกิจกรรมการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการทดสอบระดับชาติแก่นักเรียนด้วยการแข่งขันการเขียนคำขวัญ การเขียนเรียงความ และการจัดบอร์ดความรู้ ทุกปีการศึกษา ส่งเสริมและให้ขวัญกำลังใจแก่ครูผู้พัฒนาการเรียนการสอนในด้านการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน การศึกษารายกรณีและการใช้สื่อนวัตกรรมทางการสอน ระดับยอดเยี่ยมในทุกภาคเรียน และทางโรงเรียนนาทรายวิทยาคมก็เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองนักเรียนโดยมีการประชุมประจำภาคเรียน ชี้แจงผลการเรียน และร่วมกันกำหนดนโยบายการพัฒนานักเรียน มีส่วนร่วมในกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ของโรงเรียนและประเทศชาติ เชิดชูเกียรติกับแม่ดีเด่นในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญที่สุดก็คือการรายงานผลการพัฒนาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบอย่างเป็นขั้นตอน
กิจกรรมและโครงการกล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่โรงเรียนนาทรายวิทยาคมได้ดำเนินการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครู ต้องมีการเปลี่ยนการสอน ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีวางแผนและวิเคราะห์การสอนอย่างเป็นระบบมากขึ้น มุ่งพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียนได้อย่างตรงจุด ส่วนนักเรียนมีการพัฒนาให้มีเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นส่งผลให้นักเรียนชอบมาโรงเรียนและมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนรวมถึงทุก ๆ กิจกรรมที่จัดขึ้น และมีความสุขกับการเรียน ส่งผลให้ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยอมรับในการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้นทุกปีร้อยละ 20 – 25
ขั้นตอนของการประเมินระหว่างการดำเนินการ นิเทศ กำกับ ติดตาม และการประเมินเมื่อสิ้นสุดการดำเนินการนั้น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ มีแผนการนิเทศ การประเมิน และการรายงาน ปฏิทินการปฏิบัติงาน และกำหนดส่งงาน โดยหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ หัวหน้ากลุ่มบริหารงาน และผู้บริหารสถานศึกษา
3. คะแนน O-NET ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
จากการทดสอบระดับชาติ (O - NET) ปีการศึกษา 2548 - 2552 รวม 5 ปี สรุปได้ดังนี้ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีการสอบ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักอันได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาฯ และภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ระหว่างปีการศึกษา 2548 ถึง 2551 ตามลำดับ และครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในปีการศึกษา 2552 คะแนนสอบมีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีผลคะแนนเฉลี่ยร้อยละที่สูงขึ้นในแต่ละปีอย่างชัดเจน ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงที่สุดและเกินร้อยละ 50 ในปีการศึกษา 2551 ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) ซึ่งมีผลคะแนนเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมากเนื่องจากมีผลคะแนนการสอบสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับของแต่ละปีการศึกษาและที่เห็นอย่างชัดเจน คือ ในปีการศึกษา 2550 และ ปีการศึกษา 2551 มีระดับคะแนนสูงกว่าระดับการศึกษาต่าง ๆ คือ สูงกว่า ระดับจังหวัด ระดับสังกัดและระดับประเทศ ส่วนปีการศึกษา 2552 ที่ผ่านมานี้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขและพลศึกษามีค่าคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงที่สุดและเกินร้อยละ 50 ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์นั้นยังมีระดับผลคะแนนเฉลี่ยสูงบ้างและต่ำบ้างในแต่ละปีการศึกษา
สำหรับในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้น มีการสอบ 5 กลุ่มสาระการเรียนหลักได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาฯและภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) ระหว่างปีการศึกษา 2548 ถึง 2549 และมีการสอบครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา ผลคะแนนสอบปรากฏว่า แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีร้อยละคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่น่าพอใช้ ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อไป มีกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขและพลศึกษามีคะแนนเฉลี่ยร้อยละที่สูงที่สุดในแต่ละปีการศึกษาและเกินร้อยละ 50 ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ มีคะแนนอยู่ในระดับที่พอใช้ คือ สูงบ้างต่ำบ้างในแต่ละปีการศึกษา
โดยภาพรวมผลคะแนนเฉลี่ยทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าคะแนนเฉลี่ยของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับจังหวัด ระดับสังกัด และระดับประเทศมาเป็นระยะเวลา 2 ปี และสูงกว่าในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

5. ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนาในปีต่อไป
5.1 ปัญหาและอุปสรรค ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน สามารถอภิปรายได้ 2 ช่วง คือ ในช่วงปีการศึกษา 2548 – 2549 และช่วงปีการศึกษา 2550 – 2552 กล่าว คือ ในระหว่างปีการศึกษา 2548 - 2549 พบปัญหาเกี่ยวกับการมาเรียนที่ไม่สม่ำเสมอของนักเรียนอันมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจทางครอบครัว ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ปกครองนักเรียนมีฐานะค่อนข้างยากจน มีปัญหาเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงเรียนและค่าอาหารกลางวัน ผู้ปกครองนักเรียนบางส่วน ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงมุ่งใช้แรงงานจากนักเรียนในการทำมาหากิน อาชีพของผู้ปกครองร้อยละ 90 เป็นเกษตรกร ในส่วนของโรงเรียนประสบกับปัญหาจำนวนครูที่มีไม่เพียงพอ และมีครูที่ไม่ตรงตามวิชาเอกซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการสอนในระดับมัธยมศึกษา สื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ นักเรียนส่วนมากไม่มีหนังสือประกอบการเรียน สื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศยังมีน้อย ทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงงบประมาณที่เขตพื้นที่การศึกษา จัดสรรมาตามจำนวนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียน 216 คน ไม่เพียงพอ ทำให้ขาดแคลนปัจจัยต่าง ๆ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจัดได้เฉพาะในเวลาเรียนเท่านั้น เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่นั้นอยู่บ้านไกลทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการเดินทาง ในความมืดก็มีแสงสว่างอยู่ เช่นกัน นักเรียนมีความรัก ความเอาใจใส่ต่อการเรียน มีความซื่อสัตย์ เสียสละ ซึ่งมีตัวบ่งชี้จากโล่รางวัลในระดับต่างๆ ที่นักเรียนและโรงเรียนได้รับ ประการที่สำคัญที่สุดอีกอย่างก็ คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนเอาใจใส่และทุมเทต่อการจัดการเรียนการสอนมาโดยตลอด ในช่วงปลายปีการศึกษา 2549 นั้น มีกระแสเรื่อง การถ่ายโอนสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นทำให้ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียนทุกคน และบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ได้ปรึกษาหารือและลงมติให้มีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม ในการถ่ายโอนครั้งนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ถ่ายโอนไปพร้อมกับโรงเรียนจึงขอย้ายไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านของตนเอง ทำให้โรงเรียนขาดอัตรากำลัง ต่อมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรตำแหน่งครูผู้ช่วยแทนตำแหน่งเดิมเพิ่มเป็น 18 อัตรา ปัญหาจากการถ่ายโอน แม้จะมีครูครบตามเกณฑ์และวิชาเอกแล้ว แต่ปัญหาใหม่ที่พบคือ ครูร้อยละ 95 เป็นครูที่บรรจุใหม่ ประสบการณ์มีน้อย ทั้งประสบการณ์ทางการสอน เทคนิคการสอน การปฏิบัติงานต่าง ๆ จึงทำให้ต้องมีการลองผิดลองถูกบ่อยครั้ง และในการถ่ายโอนนั้นครูและบุคลาการทางการศึกษาทุกคนร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน มีการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการศึกษา ทำให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาบางอย่างในเบื้องต้น เช่น ปัญหาด้านการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากโรงเรียนมีระยะทางห่างจากต้นสังกัด 130 กิโลเมตร ปัญหาด้านคววามรู้ ความสามารถด้านการเบิกจ่าย ปัญหาด้านการบริการวิชาการ เป็นต้น ซึ่งต้องเรียนรู้และช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันโรงเรียนได้ปรับตัวภายใต้สังกัดใหม่ โดยใช้ระยะเวลา 3 ปี ทำให้เกิดความเข้าใจและการปฏิบัติงานคล่องตัวมากขึ้น มีจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีการศึกษาอย่างเห็นได้ชัดเจน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มขึ้นและสอนตรงตามวิชาเอก ครูที่มีประสบการณ์น้อยได้ผ่านการสอนงานอย่างเป็นระบบ มีความมุมานะ มุ่งมั่น ทุ่มเท และเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางานอย่างต่อเนื่อง มีงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดมากขึ้นทำให้เพียงพอในการพัฒนาการจัดการศึกษา มีบริการสวัสดิการแก่นักเรียนต่าง ๆ เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปีและท้องถิ่นจัดสวัสดิการอาหารกลางวัน บริการรถรับส่งนักเรียน ชุดพละศึกษาและ หนังสือยืมเรียน มีสื่ออุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เช่น ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ในส่วนของนักเรียนนั้นได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทั้งสื่อที่มีอยู่ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาเพิ่มมากขึ้นรวมถึงนักเรียนได้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถในด้านทักษะวิชาการ ดนตรี นาฎศิลป์ ศิลปะและการกีฬา เพิ่มมากขึ้นในระดับการแข่งขันของระดับต่างๆ ทั้งในหน่วยงานต้นสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ปกครองนักเรียนทุก ๆ คน ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและการจัดการศึกษา ของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม โดยสังเกตได้จาก การเข้าร่วมประชุมผู้ปกครองของนักเรียน การทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การประชาสัมพันธ์ การร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาผู้เรียน เป็นต้น
5.2 แนวทางในการพัฒนาในปีต่อไป ในการพัฒนานักเรียนทั้ง 6 ด้าน คือ 1. ด้านความรู้ ความคิด ในสมอง 2. ด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ สุนทรียะ ต่าง ๆ 3. ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต 4. ด้านทักษะของกล้ามเนื้อ เช่น กีฬา 5. ด้านทักษะทางสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น 6. ด้านทักษะทางภาษาและคณิตศาสตร์ ในปีต่อไปโรงเรียนได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการเช่นเดียวกันกับปีการศึกษา 2552 และได้กำหนดแนวทางที่มีความชัดเจน และเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทั้งการวิเคราะห์ผู้เรียนและแก้ไข เป็นรายบุคคล ในทุกตัวชี้วัด เพิ่มทักษะและศักยภาพของครูในด้านการวัดผลและประเมินผล ตามแนวทางของ สทศ.
6. บทสรุป
ในด้านการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับสโลแกน ของสถานศึกษาที่ว่า “โรงเรียนท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่น” และปรัชญาของโรงเรียน คือ “ผู้ใฝ่รู้ ย่อมเป็นผู้เลิศ” ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากการยึดหลักการที่สำคัญ 5 ประการ ประการที่ 1 การพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การนำข้อมูล มาจัดกระทำ วิเคราะห์ เป็นสารสนเทศ นำมาพัฒนาและตัดสินใจ โดยมีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องประการที่ 2 การเอาใจใส่อย่างจริงจังของครูและบุคลากรทางการศึกษา ความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ และเอาใจใส่อย่างจริงจังต่องานที่ได้รับมอบหมายของครูใหม่ ไฟแรง ประการที่ 3 งบประมาณการสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งด้านอาคารสถานที่ และปัจจัยด้าน อี่น ๆ ทำให้โรงเรียนที่ห่างไกลชายขอบจังหวัดลำพูน กลับมามีนักเรียนเพิ่มขึ้นตามลำดับเหมือนเช่นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ในขณะที่โรงเรียนมัธยมอื่น ๆ มีจำนวนนักเรียนลดลง ประการที่ 4 หลักของการมีส่วนร่วม โดยการระดม ประสาน สัมพันธ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ หน่วยงานต้นสังกัด คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ชมรมผู้ปกครองนักเรียน ชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ชมรมศิษย์เก่า รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมพัฒนา ประเมิน และร่วมชื่นชมยินดี ประการที่ 5 สุดท้าย คือ การรายงานผลอย่างเป็นระบบและประชาสัมพันธ์ การประเมินผลระหว่างการดำเนินงาน สรุปผลเมื่อสิ้นสุดการทำงาน และรายงานผลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอน โดยการนำคะแนน O-NET มาใช้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งประการหนึ่ง เนื่องจากเป็นการลดความลำเอียงที่ผู้สอน ดำเนินการสอนเอง วัดเอง ประเมินเอง ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะใช้เครื่องมือที่มีความไม่เที่ยงตรงทั้งเชิงโครงสร้างและเนื้อหา และอาจไม่มีความเชื่อมั่น ดังนั้นจึงควรนำคะแนน O-NET มาประกอบการพิจารณา วางแผน และปรับปรุงแก้ไข อย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ตัวแปรที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็ คือ ตัวนักเรียนที่เปลี่ยนไปทุกปี และในขณะเดียวกัน สทศ. ก็มีการพัฒนาเครื่องมือไปพร้อมกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักของการพัฒนาและหลักของธรรมชาติ คือ การเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนา การไม่อยู่นิ่งคือการมีชีวิตนั่นเอง

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ. 2546. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพอักษรไทย (น.ส.พ. ฟ้าเมืองไทย).
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน. 2551. แนวทางการนำมาตรฐานการศึกษา
ขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร
แห่งประเทศไทยจำกัด.
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน. 2549. มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 1.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
เลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงาน. 2548. มาตรฐานการศึกษาของชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1.
กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายบล็อก และการพิมพ์.
สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ. 2550. คู่มือสำหรับผู้บริหารในการนำผลการสอบ O-NET
ไปวางแผนปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาครู-นักเรียน. กรุงเทพฯ:
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
รัตนะ บัวสนธ์ นางจุฑามาส ศรีจำนง และว่าที่ร้อยตรี สิริศักดิ์ อาจวิชัย. ม.ป.ป. การวิเคราะห์
มาตรฐานการศึกษาของเทศไทย. พิษณุโลก: อัดสำเนา.
เว็ปไซต์
http://www.lamphun.go.th/intro.php?topicid=5
http://www.niets.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น