“ ครูมืออาชีพตามมาตรา 24 ”
นายยงยุทธ ยะบุญธง***
ถ้าจะมีผู้ตั้งคำถามว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ อะไร คำตอบที่ถูกต้อง ก็น่าจะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ หรือการปฏิรูปการเรียนการสอนนั่นเอง เพราะถ้าเราได้อ่านพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อย่างละเอียด อย่างพินิจ พิเคราะห์ก็จะพบว่า สาระทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในทุกมาตรา นำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ คือ การมุ่งไปสู่การพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ
การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้จะสำเร็จได้ต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพและสอดคล้องตามจุดประสงค์ของการศึกษาแต่ละระดับ และปรับบทบาทของครูจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ชี้แนะ สนับสนุนเอาใจใส่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ครูควรใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมกับวัย ส่งเสริมผู้เรียนให้สร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สัมผัส ปฏิบัติด้วยตนเอง ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย ใช้แหล่งความรู้นอกเหนือจากห้องเรียน โรงเรียน และหนังสือ
ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้มีอยู่ 4 ประการ คือ 1. หลักการเรียนรู้ 2. บทบาทของครู
3. บทบาทของผู้เรียน 4. การจัดสภาพการเรียนรู้ ดังนี้
1. มีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้โดยอาศัยสภาพความเป็นจริง
2. จัดประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัย และความสามารถของผู้เรียน
3. บูรณาการเนื้อหา กิจกรรมและทักษะการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงพื้นฐานของผู้เรียน
4. ให้โอกาสผู้เรียนได้สัมผัสปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง
5. ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูโดยทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดและปรับตัวทางสังคมร่วมกัน
6. ให้ผู้เรียนมีโอกาสคิด เลือก ตัดสินใจในการทำกิจกรรม โดยมีผู้ใหญ่คอยให้กำลังใจ
7. สร้างบรรยากาศที่ให้ผู้เรียนมีคิดอิสระและสนับสนุนความคิดริเริ่ม
8. สร้างเสริมความรู้สึกภูมิใจในการทำกิจกรรมและความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
9. ติดตามสังเกตผู้เรียน สะท้อนข้อมูลจากการสังเกตและประเมินผล
10. ปรับเปลี่ยนบทบาทครูในฐานะผู้สอนเป็นผู้สังเกต ผู้เรียนรู้และผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
11. ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับบทบาทพ่อแม่และสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาผู้เรียน
มาตรา 24 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กล่าวถึง การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับ ความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
ในแต่ละชั้นแต่ละห้องผู้เรียนมีอายุไล่เลี่ยกัน ส่วนใหญ่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน มองดูเหมือนเหมือน ๆ กัน แต่ในความเป็นเด็กเหมือนกันนั้น พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอยู่ด้วยทั้งรูปร่างหน้าตา บุคลิกลักษณะนิสัย ความเฉลียวฉลาดในการเรียนรู้ช้าเร็วต่างกัน แต่ในความแตกต่างนี้ก็เป็นมุมของความงดงามในสังคมมนุษย์ที่จะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทดแทนกันและกัน เรียนรู้จากกันและกัน ความแตกต่างจึงมีคุณค่าในการพัฒนา
เพื่อจะได้นำข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นการค้นหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ระเบียนสะสม รบ.3 บัตรสุขภาพ จากบุคคล ได้จากการรวบรวมข้อมูลโดยหลากหลายวิธี และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ สรุปผล นำไปช่วยเหลือแก้ไข ส่งเสริมและสนับสนุนให้เขาพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ มีความสุข ครูต้องศึกษาเพื่อให้รู้จักผู้เรียนทุกคนเพราะในห้องเรียนมีผู้เรียนมากมาย ต่างชอบหลากหลายวิธีเรียน ครูจึงต้องมีหลากหลายวิธีสอน จัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
การจัดกิจกรรมที่เน้นกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รู้จักตนเอง รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักพึ่งพาอาศัยกัน รู้วิธีศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และศึกษาหาความรู้ร่วมกับผู้อื่น รู้จักประเมินตนเองและยอมรับผลการประเมินจากผู้อื่น การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน การสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข
การให้ผู้เรียนทำโครงงาน เรียนแบบมีส่วนร่วม พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวิชานั้น ๆ กระตุ้นให้ผู้เรียนไปหาความรู้เพิ่มเติม กระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ การเรียนแบบนี้ใช้เวลา ฉะนั้นการเรียนในชั่วโมงอย่างเดียวไม่พอ แนะวิธีการศึกษาด้วยตนเองตามความเหมาะสม ครูต้องเหนื่อยกว่าปกติ แต่คุ้มค่าที่ได้ทำให้ผู้เรียนฉลาดขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักสื่อความหมาย ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ ความถนัด ถ้าผู้เรียนชอบการ์ตูนก็ให้ผู้เรียนสื่อออกมาในรูปของการ์ตูนได้
(2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
การสอนให้นักเรียนมีกระบวนการให้นักเรียนรู้วิธีเรียน (Learn how to learn) ไม่ใช่จำเนื้อหาวิชา นักเรียนก็จะมีความรู้ติดตัวไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ นอกจากทักษะกระบวนการแล้ว ทักษะการจัดการซึ่งผู้เรียนควรมีลักษณะ 3 ประการ คือ 1. รู้จักนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง 2. รับรู้กระบวนการและนำไปใช้ได้ 3. เห็นช่องทางในการนำสิ่งที่เรียนไปประกอบอาชีพ - รายได้
ดังนั้นครูผู้สอนจึงมีภาระหน้าที่ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้ฝึก ทักษะต่าง ๆ ดังนี้ กระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกการคิดโดยใช้คำถาม หรือปัญหานำ อาจใช้ของเล่น หรือกรณีเหตุการณ์ ข่าวประจำวัน ตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ดึงมาเป็นหัวข้อให้ผู้เรียนวิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือไปดูสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นตามข่าว ค้นหาคำตอบ แล้วร่วมกันสรุป ทำให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน ไม่ใช่ ต้องเรียน
ฝึกนักเรียนให้คิด และวิเคราะห์ด้วยตนเอง และทำงานแบบกลุ่ม พร้อมกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ในแต่ละด้าน ไม่ควรแยกผู้เรียนออกจากัน คำถามแต่ละคำถามครูต้องรู้ว่าผู้เรียนอยู่ในระดับไหน และปล่อยให้ผู้เรียนได้หาคำตอบด้วยตนเอง
โรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมค่ายต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์โดยถ่ายทอดความคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม บางครั้งผู้เรียนก็จะเป็นครูของเราโดยไม่รู้ตัว ในแง่ของความคิด ซึ่งผู้เรียนจะมีการเสนอวิธีคิดออกมาแบบง่าย ๆ น่าสนใจ
การวิเคราะห์ คือ การแยกส่วน การฝึกวิเคราะห์ควรเริ่มด้วยการให้ผู้เรียน “มองต่างมุม” และ “มองหลายมุม” แนวทางหนึ่งของการฝึกวิเคราะห์ คือ การใช้คำถาม ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เท่าไร ทำไม
(3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
บรูเนอร์ (Jerome Bruner) นักการศึกษาที่สำคัญท่านหนึ่ง เสนอว่า การสอนนั้นจะต้องเป็นการให้ผู้เรียนได้เริ่มจากประสบการณ์ตรงไปสู่ประสบการณ์ผ่านภาพ (Iconic) ซึ่งเป็นตัวแทนของประสบการณ์จริง แล้วเรื่อยไปสู่ลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ (Symbol) และ อัลคอร์น (Alcorn) และคณะได้สรุปจากประสบการณ์ว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะจดจำสิ่งที่เรียนจากน้อยไปหามากดังนี้ จากสิ่งที่ 1.อ่าน 2. ฟัง 3. เห็น 4. ฟังและเห็น 5. พูด-อภิปราย 6. การกระทำ และจากกรวยประสบการณ์ของเอการ์ เดล สิ่งที่ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วและมีคุณค่า จำอย่างถาวรมากที่สุด คือ การเรียนรู้จากของจริง ประสบการณ์การตรง
ภาระหน้าที่ของครูผู้สอนจึงต้องจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ให้ได้ปฏิบัติจริงให้มากที่สุด เพื่อค้นหาคำตอบและสรุปด้วยตนเอง ฝึกให้ผู้เรียนเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี และเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของชีวิตจริง
การสอนโดยให้ผู้เรียนออกไปฝึกงาน ฝึกประสบการณ์หรือวิธีปฏิบัติมากกว่าที่จะนั่งเรียนในห้องอย่างเดียว
ให้ผู้เรียนทำโครงงานนำเสนอแนวคิด และขั้นตอนการดำเนินงานพร้อมทั้งให้ได้ปฏิบัติจริง เพื่อสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
การสอนแบบทดลอง มุ่งให้ผู้เรียนเรียนโดยลงมือกระทำ หรือโดยการสังเกต ค้นหา ข้อสรุปหรือความจริงด้วยตนเอง
จัดกิจกรรมมุ่งเน้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักแยกแยะ เชื่อมโยง เป็นระบบ กล้าแสดงออกใช้หลักเหตุและผลในการรับฟังความคิดเห็นและประเมินผลร่วมกัน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุง เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยครูจะต้องคอยส่งเสริม จัดสภาพแวดล้อมและอำนวยการให้เกิดสิ่งเหล่านี้บนความเชื่อพื้นฐานว่า ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถในทางที่ถูกอีกทั้งครูต้องยอมรับการกระทำนั้น ๆ ยกย่องและให้กำลังใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ มีนิสัยชอบปฏิบัติและสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความสุข
ให้มีการสร้างทัศนคติค่านิยมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้เรียน ดังนี้ 1. พัฒนาให้มีท่าทีหิวกระหายการเรียนรู้ 2. พัฒนาให้มีท่าทีกระตือรือร้นในการเรียนรู้ 3. พัฒนาให้มีท่าทีอุทิศตัวเอาจริงเอาจังในการเรียนรู้ 4. พัฒนาท่าทีที่เชื่อฟังและยอมรับการสอนเสมอ 5. พัฒนาท่าทีให้มีท่าทีถ่อมใจ ยินดีเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
(4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
โลกในทศวรรษหน้าจะต้องการคนที่มีความสามารถในการผสมผสานศาสตร์หลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด เช่น นักการเมือง ผู้ที่เป็นได้ทั้งผู้นำที่สามารถ นักการเงินตัวยง และนักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ที่สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง โดยไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม แต่จากสภาพปัจจุบันโลกของเรากลับมีทิศทางไปในทางตรงกันข้าม ทุกอย่างถูกแยกจากกันเป็นชิ้น ๆ ในโรงเรียนผู้เรียนทุกคนชินชากับการไปโรงเรียนเพื่อนั่งสังเกตว่า ต้องทำเลขอย่างไร ในตอนเช้า พอตกบ่ายก็ต้องมานั่งจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมวิทยา ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไรกับเขาเลย พอเรียนจบไปแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ใหม่อีกครั้งจากโลกภายนอก ดังนั้น การเรียนในโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่สูญเปล่า
หลักสูตรแบบบูรณาการจึงจำเป็นสำหรับทศวรรษหน้าและอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีนักคิด นักการศึกษาหลายคนได้เริ่มนำ ศิลปะแห่งการผสมผสานหลักสูตร มาใช้เพื่อให้ผู้เรียน ๆ ได้เรียนรู้ทักษะแห่งการผสมผสานอันเป็นคุณลักษณ์ที่จำเป็นอย่างมากในทศวรรษที่ 21 นอกจากนั้นยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ลดเวลาเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นการแบ่งเบาภาระในการสอนของครู
ถ้าเราต้องการจะให้คนรุ่นใหม่เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน (Lifelong Learner) และเป็นผู้สร้างสรรค์ที่ดีไปพร้อม ๆ กัน เราต้องช่วยให้ผู้เรียน เกิดความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิต จะต้องทำให้เขาทราบว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของโลก เขาสามารถใช้ทักษะวิทยาการต่าง ๆ ที่เรียนมาใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง ทั้งนี้เพราะวิถีชีวิตของคนที่ต้องดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนเป็นองค์รวม
Story Line Method คือ การเอาทฤษฎีการเรียนรู้หลายทฤษฎีมาใช้ร่วมกัน เช่น การบูรณาการ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวผู้เรียน เชื่อมโยงออกไปสู่วิถีชีวิตจริง การค้นคว้าหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นต้น Story Line Method มีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่า ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม ผลการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งความรู้นั้นและประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญและผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีต้องผ่านการกระทำของตนเองด้วยประสบการณ์ตรง หลักการของ Story Line คือ การสร้างเรื่องหรือสถานการณ์สมมติที่จะศึกษาให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
การจัดการเรียนรู้โดยโครงงาน ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ และหลักการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ คือ เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนภายใต้หลักการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสอดคล้องกับสภาพจริงในท้องถิ่น
การใช้วิธีการประเมินจากแฟ้มผลงาน จะสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามหลักสูตรได้หลากหลายวิชา เสริมสร้างความสนใจในการเรียนรู้ด้านภาษา การเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อย่างมีความหมาย รวมถึงการเกิดความร่วมมือในการเรียนรู้และการบูรณาการวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ตามในการบูรณาการหลักสูตร และจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ด้วยทุกครั้ง
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
การจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนการสอน และสิ่งต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวย เพิ่มความสะดวกแก่ผู้เรียน และผู้สอน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่ง ต่อการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้
โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมทั้งครูผู้สอนจึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียน ครูกับครู ให้โอกาสอิสระในการลองผิดลองถูก มีความหลากหลาย มีอิสระในการเลือก บรรยากาศเป็นมิตรไมตรีต่อกัน เรียนรู้ร่วมกัน หากมีการแข่งขันก็มุ่งเน้นการพัฒนา เวลาที่เหมาะสม เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีความสนุกสนาน ครูและผู้เรียนมีการตื่นตัวตลอดเวลา มีความสนุกในการเรียนรู้ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดหา ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมเพียงพอ
ครูทุกคนสามารถทำวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน (Classroom Research) เพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เรียนอย่างคิดเป็นทำเป็น พัฒนาเต็มศักยภาพและมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำให้เด็กไทยฉลาด เป็นคนเก่ง คนดี คือ บทบาทและภาระกิจของคุณครูทุกคน และสถานศึกษาทุกแห่ง
(6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
ความรู้ และแหล่งการเรียนรู้มีอยู่มากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่ครูจะติดตามไปสอนผู้เรียนได้หมด ต้องสร้างให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพื่อติดตาม ค้นคว้าหาความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น
การที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องเริ่มจากต้นทุนที่เป็นฐานความรู้ที่นักเรียนมีอยู่ เชื่อมโยงไปสู่แหล่งเรียนรู้ไกลตัว ในโลกกว้างจากแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวที่สุด คือ แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่นทรัพยากร สภาพปัญหา การประกอบอาชีพในชุมชนฯ และเชื่อมโยงต่อสู่ความเป็นสากล สังคมโลก
กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดจะเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ตัวอย่าง การนำภูมิปัญญาในชุมชนใกล้เคียงมาใช้ในโรงเรียน ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่เด็กและครู เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน โดยเน้นบทบาทของการแสดงออกเป็นสำคัญ จัดให้มีค่ายวิทยาศาสตร์ ร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในเขต หรือในสหวิทยาเขต หรือกลุ่มโรงเรียน สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจ
การเรียนการสอนไม่ได้อยู่แต่ในโรงเรียน ผู้เรียนสามารถไปศึกษาที่บ้านหรือท้องถิ่นได้ การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด ครูสามารถสร้างเจตคติให้ผู้เรียนสนใจได้
ครูมืออาชีพตามมาตรา 24 ต้องใช้เทคนิคการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ อันประกอบด้วย การรู้จักรายบุคคล ซึ่งมีหลากหลายวิธี หลากหลายแหล่งเรียนรู้ ช่วยให้ครูรู้จักเด็ก กลุ่ม พลังการเรียนแบบร่วมมือ บูรณาการ วิถีการจัดการเรียนรู้ของครูยุคใหม่ โครงงาน การเรียนรู้ที่ลุ่มลึก การเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่น การเรียนรู้ที่มีความหมายใช้ได้จริงในชีวิต และพอร์ตโพลิโอ (Portfolio) แหล่งรวบรวมผลการเรียนรู้
***อาจารย์ 2 ระดับ 6 หมวดวิทยาศาสตร์ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น