วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

การถ่ายโอนโรงเรียนนาทรายวิทยาคม

การจัดการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
(การถ่ายโอนโรงเรียนนาทรายวิทยาคม)
ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญ กับการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 16 ฉบับ และด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยครั้งใหญ่ (โกวิทย์ พวงงาม, ม.ป.ป., หน้า 1) นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ยังได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนนี้เอง จึงเป็นหลักประกัน ว่ารัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดบริการ สาธารณะ โดยใช้การกระจายอำนาจเป็นกลไกสำคัญ และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้มีการบัญญัติมาตรา 283 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน และ การคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ (วุฒิสาร ตันไชย, 2551, หน้า 1)
การกระจายอำนาจการปกครอง เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการปกครองประเทศโดยรัฐมอบอำนาจการปกครองบางส่วนให้กับองค์กรปกครองอื่น นอกจากองค์กรของส่วนกลาง เพื่อจัดบริการสาธารณะบางชนิดอย่างอิสระ (Autonomy) สามารถดำเนินการได้เองและไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล (Tuttle) ของส่วนกลาง (นันทวัฒน์ บรมานันท์, 2545, หน้า 19) การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐในระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งลดบทบาทของรัฐในส่วนกลางให้เหลือแต่ภารกิจหลักที่ต้องทำเท่าที่จำเป็น และเพิ่มบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการแทนในกลุ่มงานที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงการดูแลความสงบเรียบร้อย การพัฒนาท้องถิ่นและการจัดบริการสาธารณะ ให้แก่ประชาชนพร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะ การพัฒนาและจัดการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากขึ้น
รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอภิวัฒน์ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คือ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจ ฯ ได้จัดทำประกาศ แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดกรอบแนวคิด เป้าหมาย และแนวทางการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เพื่อให้การกระจายอำนาจบรรลุเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่เป็นแผนที่เบ็ดเสร็จแต่มีกระบวนการที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจ ฯ ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 จนปัจจุบัน ภารกิจกระจายอำนาจของไทยไม่ก้าวหน้ามากนัก เนื่องจากบรรดาเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้านการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การถ่ายโอนการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2548 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 กำหนดเกณฑ์การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกำหนดสัดส่วนการขอรับ ถ่ายโอนสถานศึกษา แยกตามระดับการศึกษาและตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีมติให้โอนสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มติดังกล่าวสวนทางกับความคิดเห็นของสมาคมครูและผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่จึงได้รวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ประท้วงดังกล่าว จึงเพิ่มเติมเงื่อนไขการถ่ายโอน ว่าการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของสถานศึกษา ที่จะต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อหาทางออกที่จะลดผลกระทบ โดยให้เป็นไปในลักษณะของความสมัครใจของ 2 ฝ่าย คือ ความสมัครใจของผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาฝ่ายหนึ่ง กับคณะกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐานอีกฝ่ายหนึ่ง หากทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เต็มใจที่จะรับ และมีความพร้อมที่จะรับ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีความพร้อมที่จะรับถ่ายโอน และโรงเรียนพร้อมที่จะถ่ายโอนไป จึงจะสามารถถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดไว้ว่าการถ่ายโอนจะต้องมีการระบุชื่อโรงเรียนที่ชัดเจน และต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยในปีการศึกษา 2549 จะต้องยื่นเรื่องขอรับการประเมินความพร้อมภายใน 120 วันก่อนวันเปิดภาคเรียน คือ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2549 (กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, 11 มกราคม 2549) ในส่วนของ การแสดงความสมัครใจให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) และหลังจากนั้น วันที่ 17 มกราคม 2549 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) โดยในหมวด 3 (1) กำหนดให้รับข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นเป็นสมาชิก และมาตรา 70 (1) คงสิทธิการเป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้เช่นเดิม (พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549, 17 มกราคม 2549, หน้า 8)
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่เน้นย้ำถึงเรื่อง การหาความสมัครใจของโรงเรียน กระบวนการหาความสมัครใจ และการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ถึงเดือน เมษายน พ.ศ. 2549 ต่อมาระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2549 ได้เกิดมีกรณีปัญหาโรงเรียนที่สมัครใจถ่ายโอนมีจำนวนมากเกินสัดส่วนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือที่เรียกว่า โรงเรียนบัญชี 2 และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สกถ.) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งดำเนินการถ่ายโอนโรงเรียนที่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่าโรงเรียนบัญชี 1 ไปก่อน ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 จึงได้มีการถ่ายโอนโรงเรียนบัญชี 1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นครั้งแรกจำนวน 31 โรง และในเดือนเดียวกันนี้ มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การดำเนินการถ่ายโอนสถานศึกษาจึงหยุดลงชั่วคราว เนื่องจากเกิดการปฏิรูปการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และมีการตั้งรัฐบาลใหม่ พณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการคนใหม่ คือ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน ซึ่งมีนโยบายถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้ดำเนินการถ่ายโอนโรงเรียนบัญชี 1 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มเติม อีกจำนวน 25 โรง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 (สพฐ, ศธ 04006/2104, ลว 20 พฤศจิกายน 2549) และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 อีกจำนวน 15 โรง (สพฐ, ศธ 04006/13, ลว 5 มกราคม 2550) รวมโรงเรียนบัญชี 1 ที่ถ่ายโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 70 โรง หลังจากนั้นก็มีการถ่ายโอนเพิ่มอีกเป็นระยะ ๆ
ในส่วนของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งเดียวในจังหวัดลำพูน ที่สมัครใจถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเหตุผลและปัญหาหลายประการ เช่น จำนวนนักเรียนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ในระยะเวลา 5 ปี (2544-2548) (สารสนเทศ, 2548, หน้า 10) จำนวนครูและบุคลากรลดลงไปตามเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และครูสอนไม่ตรงตามวิชาเอก ทำให้ผลการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) รอบแรก ในปีการศึกษา 2547 มาตรฐานด้านครู มาตรฐานที่ 24 และผู้เรียนในมาตรฐานที่ 5 มีระดับคุณภาพ “ปรับปรุง” (สมศ., 2547) นอกจากนั้นงบประมาณ ที่โรงเรียนได้รับจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนรายหัวตามจำนวนนักเรียนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำและการพัฒนาการศึกษา ประกอบกับร้อยละ 80 ของผู้ปกครองเป็นเกษตรกร และมีฐานะค่อนข้างยากจน อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลชายขอบของตัวจังหวัด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระดมทรัพยากร เพื่อนำเงินมาจ้างครูให้เพียงพอและการพัฒนาสถานศึกษาให้ดีขึ้น โรงเรียนได้รับการอนุมัติให้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 (สพฐ, ศธ 04006/13, ลว 5 มกราคม 2550) มีการถ่ายโอนภารกิจ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 และถ่ายโอนบุคคลในวันที่ 16 เมษายน 2550 พร้อมกันกับการถ่ายโอนทรัพย์สิน การถ่ายโอนทั้ง 3 ด้านได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. 2550
เมื่อมีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ปัญหาที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานทั้งในส่วนของหลักสูตร และการจัดการเรียน การสอน ดังที่ สโรช สันตะพันธุ์ (2549) ได้กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนได้ผ่านกระบวนการถ่ายโอนมาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วระยะหนึ่ง ควรจัดให้มีการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประเมิน คุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษารวมทั้งผลผลิตที่จะเกิดขึ้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิผลของการศึกษาซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของรูปแบบการบริหาร คุณลักษณะขององค์การ และบรรยากาศการทำงานแบบมืออาชีพ (ชาญชัย อาจินสมาจาร, 2548, หน้า 26) ประสิทธิผลทางการศึกษาสูงสุด ต้องการรูปแบบการบริหารและบรรยากาศในองค์การที่เหมาะสม การบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในยุคปฏิรูปการศึกษา ผู้บริหารจำเป็นต้องพัฒนาองค์กรจากรูปแบบของการบริหารที่มีประสิทธิผล แม้ว่าในหลักการบริหารสถานศึกษาจะมีทฤษฎีการบริหารอย่างหลากหลายที่บ่งบอกลักษณะของวิวัฒนาการทางการบริหารของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่สถานศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงตามหลักการ แนวคิด การบริหารจัดการ สถานศึกษาแนวใหม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งสู่ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในที่สุด
โครงสร้างองค์การเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินงานของ องค์การหรือของหน่วยงาน เปรียบเสมือนโครงกระดูกในของร่างกาย มีส่วนโดยตรงที่ทำ ให้การดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ ขององค์การเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันทั้งระบบ ทำให้ทุกส่วนสามารถร่วมกันดำเนินงานไปด้วยกันได้ดี และเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อุทัย บุญประเสริฐ, 2544) จึงถือได้ว่าโครงสร้างองค์การเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่สำคัญเป็นอย่างมากส่วนหนึ่ง เมื่อมีถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการเปลี่ยนต้นสังกัด กฎหมาย ระเบียบและวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 97 ยังไม่เคยจัดการศึกษาและยังไม่มีการจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการบริหารและการจัดการศึกษา (กมล สุดประเสริฐ, 2544, หน้า 9) สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างการบริหารให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงต้องจัดทำคู่มือคุณภาพ เพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง บทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งคู่มือการปฏิบัติงานไว้ สำหรับผู้บริหารการศึกษาและสถานศึกษานำไปใช้เป็นคู่มือในการนิเทศ กำกับ ติดตาม และผู้ปฏิบัติงานซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่เพื่อทดแทนครูที่ย้ายออกไป สามารถนำคู่มือทั้งสองไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
จากประเด็นปัญหาและความสำคัญของการบริหารสถานศึกษาที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการบริหารและจัดการให้เกิดการขับเคลื่อนไป ภายใต้ภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมีการบริหารสถานศึกษารูปแบบใหม่ที่ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลงตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์จัดการศึกษา ซึ่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา ต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนซึ่งไม่แน่ใจว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดีหรือไม่ อย่างไร จึงมีความจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนารูปแบบการบริหารงานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนฯ โดยใช้วิธีวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR: Participatory Action Research) เพื่อให้ได้รูปแบบการบริหารที่เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของโรงเรียน ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจแก่บุคลากร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพ แก้ข้อห่วงใยข้างต้น นอกจากนั้นยังเป็นการลดปัญหาและความไม่แน่ใจที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บรรณานุกรม
กมล สุดประเสริฐ. (2544). รูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจ. สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟิก.
โกวิทย์ พวงงาม. (ม.ป.ป.). ความคืบหน้าของการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทิศทางที่ควรจะเป็นไปในอนาคต. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2548,
จาก http://www.local.moi.go.th/webst/article2.pdf
ชาญชัย อาจินสมาจาร. (2548). สู่ทิศทางใหม่ของการบริหารการศึกษา. กรุงเทพฯ: ก้าวใหม่.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. (2545). การปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข ตัวชี้วัด และระดับคุณภาพใน
การประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547. (29 กันยายน 2547). ราชกิจจานุเบกษา. 121(พิเศษ 110ง). หน้า 8-10.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549. (13 มกราคม 2549). ราชกิจจานุเบกษา. 123(พิเศษ 7ง). หน้า 8-11.
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. 2542. (17 พฤศจิกายน 2542). ราชกิจจานุเบกษา. 116(114). หน้า 48-66
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2546. (4 พฤศจิกายน 2546). ราชกิจจานุเบกษา. 120(109 ก). หน้า 5-20.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. (11 ตุลาคม 2540). ราชกิจจานุเบกษา. 114(55 ก). หน้า 1-99.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. (24 สิงหาคม 2550). ราชกิจจานุเบกษา. 124(57 ก). หน้า 1-127.
วุฒิสาร ตันไชย. (2551). ทิศทางการปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2551, จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/
35389/1
โรงเรียนนาทรายวิทยาคม. (2550). สารสนเทศ ปีการศึกษา 2550. ลำพูน: ม.ป.พ.
สโรช สันตะพันธุ์. (8 มกราคม 2549). ปัญหาการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: การถ่ายโอนสถานศึกษา. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2549,
จาก http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=857
สำนักนายกรัฐมนตรี (2549). คู่มือการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
สำนักบริหารงานทะเบียน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน. (2550). ข้อมูลสถิติอำเภอลี้. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน). (2547). รายงานการประเมินคุณภาพภายนอก สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนนาทรายวิทยาคม. กรุงเทพฯ: สมศ.
สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์. (2548). ปัจจัยเชิงพหุระดับที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐในกรุงเทพ. วิทยานิพนธ์ ศษ.ด., มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, กรุงเทพฯ.
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ. 2549-2551).
ลำพูน: ม.ป.พ.
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย. (2550). แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ปี พ.ศ. 2550-2552. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
อุทัย บุญประเสริฐ. (2544). รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาแนวทางการบริหารและการจัดการของสถานศึกษา ในรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น