วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

การพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

การพัฒนา รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
A PROPOSED MODEL OF INTENSIVE PREPAREDNESS AND DEVELOPMENT
BY PARTICIPATION OF NEW CIVIL SERVICE TEACHER, NASAIWITTAYAKOM SCHOOL,
OFFICE OF LOCAL ADMINISTRATIVE ORGANIZATION, LAMPHUN PROVINCE.
----------------------------------------------------------------------------------------
ดร. ยงยุทธ ยะบุญธง*

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และมีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ 1) เพื่อสร้างรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม และ 2) เพื่อทดลองและศึกษาผลการใช้ รูปแบบฯ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มี 4 ช่วง 9 ขั้นตอน ใช้เวลาในการศึกษา 2 ปี (1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552) กับครูผู้ช่วยจำนวน 12 คน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการและแนวคิด 2) วิธีการพัฒนามี 2 ลักษณะ คือ การฝึกงานในหน้าที่ และการฝึกนอกเหนือจากการฝึกงานในหน้าที่ 3) สื่อและเอกสารประกอบ 4) วิธีการและเครื่องมือ การประเมินและรายงานผล 5) คู่มือฯ โดยดำเนินการอย่างมีขั้นตอน และมีวิธีการพัฒนาและประเมินอย่างหลากหลาย และบูรณาการ มีการลงมือปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประเมินผล โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนา ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย
2. ครูผู้ช่วยทั้ง 12 คน ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยมีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินทุกครั้ง และมีคะแนนความก้าวหน้าของการประเมินตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 8 ทั้งหมวดการปฏิบัติตนและหมวดการปฏิบัติงานและรวมกันเพิ่มขึ้นตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อครูผู้ช่วย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ทั้งสองหมวดอยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจต่อการจัดแสดงผลงานอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบฯ ในมิติของกระบวนการ พบว่า ครูผู้ช่วย และคณะกรรมการฯ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จากครูผู้ช่วยและคณะกรรมการฯ สรุปได้ว่า มีอรรถประโยชน์ มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินคู่มือฯ จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน ในด้านเนื้อหาสาระฯ การมีส่วนร่วม ความเป็นไปได้ และประโยชน์ในการนำไปใช้ พบว่า มีค่าความสอดคล้อง (IOC) อยู่ในระหว่าง 0.85 – 1.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 0.7
Abstract
The main objective of the proposal is to create a model focusing on Intensive Preparedness and Development geared towards the training of New Civil Service Teachers at Nasaiwittayakom School in the office of the Local Administrative Organization, located in Lamphun Province. The proposal specifies the following: 1) To create a model of Intensive Preparedness and Development. This is a accomplished by full participation. 2) To conduct experiment and assess the results of the study.
The objectives of the proposal will be accomplished through research methodology and a full implementation of Action Research. The proposal has four sections and nine steps to be accomplished within two years, starting 1st of October, 2007 to the 30th of September, 2009 with the 12 new civil service teachers who participated in the experiment, and here are the results:
1. The model consists of the Intensive Preparedness and Development through participation by the New Civil Service Teachers. The principle and the idea, Two methods of development: On-the-job training and off-the-job training. Using of media and paper Method, evaluation tool and the report. The manual describes The Model of Intensive Preparedness and Development through participation of the New Civil Service Teachers. It consists of step by step process namely: Methods of development; several evaluations and integrations along with the Action Research includes the participatory and developmental evaluation to follow.
2. All of the new civil service teachers passed the Intensive Preparedness and Development Criterion evaluation and the 1st through the 8th progressive scores was increased in the self practice and work practice part. The new civil service teachers scored at the high level at the end of the course and also at the project exhibition.
3. The evaluation results through the use of the Model of Intensive Preparedness and Development by the participation of the new civil service teachers found out that the new teachers and the committee members were satisfied all the requirements as stated in the model. They all scored at the highest level.
4. The evaluation results of the Intensive Preparedness and Development Model through the participation of the new civil service teachers concluded that all participants scored at the highest level in the following criterion: Usability; Appropriateness; Possibility; and applicability. The results of the seven professors, using the same criterion (usability, appropriateness, possibility, and applicability) and as shown in the Index of Consistency (IOC), recorded a score of 0.85 – 1.00. This score is much higher than the criterion score of 0.70.

Key words: Model of Intensive Preparedness and Development by Participation of New Civil Service Teacher, Teacher Development, Action Research,

บทนำ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของสถานศึกษาของไทยประกอบด้วยปัจจัยหลายประการทั้ง งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การบริหารจัดการรวมทั้งครูและบุคลากรทาง การศึกษา ในบรรดาปัจจัยดังกล่าวครูและบุคลากรทางการศึกษานับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ดังเช่น รุ่ง แก้วแดง (2543, หน้า 124) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่มีวันสำเร็จ หากไม่มีการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา และโกวิท ประวาลพฤกษ์ (2542, หน้า 91) กล่าวไว้เช่นกันว่า ความสามารถของครูเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปทำนายหรือคาดหมายคุณภาพของนักเรียนได้โดยตรง ครูที่มีความสามารถสูงย่อมชำนาญในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนลงมือกระทำ อันนำไปสู่ผลการเรียนที่แท้จริง แต่ถ้าครูมีความสามารถต่ำ ก็เป็นแต่เพียงผู้บอกความรู้ นักเรียนก็เกิดแต่ความรู้ความจำ มีนิสัยในการท่องจำ คอยฟังคำบอกจากครู ตัดสินใจเองไม่เป็น นำไปสู่คุณภาพประชากรที่ไม่เป็นผู้ผลิตผลงาน นอกจากนี้ ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา และคณะ (ม.ป.ป. หน้า 5) ก็ได้กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า การจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนจะมีคุณภาพเพียงใดนั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ คุณภาพการสอนของครู ถ้าหากครูมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างดี เยาวชนก็ย่อมจะได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากครูมีสมรรถภาพในการปฏิบัติงานก็ย่อมจะสามารถให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างมีคุณภาพ
โรงเรียนนาทรายวิทยาคม เป็นโรงเรียนถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 มีครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอย้ายออกจากผลของการถ่ายโอนโรงเรียนจำนวน 12 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 15 คน ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โรงเรียนได้รับการบรรจุแต่งตั้งครูใหม่จำนวน 12 คนบรรจุเมื่อ 1 ตุลาคม 2550 เพื่อทดแทนครูที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน คิดเป็นร้อยละ 95 ของครูทั้งหมด จึงต้องจัดให้มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตามหลักเกณฑ์ คณะกรรมการกลางเทศบาล กำหนด ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่บรรจุและแต่งตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะสามารถบรรจุแต่งตั้งเป็นครู คศ.1 ต่อไป
ในส่วนของหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม กำหนดให้เป็นหลักสูตรบูรณาการ โดยมีหลักการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจตคติ และบุคลิกลักษณะในการปฏิบัติวิชาชีพ ทั้งการปฏิบัติตน และการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับวิชาชีพให้แก่ครูผู้ช่วย โดยคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สามารถปรับหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระได้ตามความเหมาะสม หลักสูตรฯ ได้กำหนดโครงสร้างหลักสูตร โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ การปฏิบัติตน และการปฏิบัติงาน มีคู่มือการประเมินผล แบบประเมิน และแบบสรุปผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม แต่ในส่วนของวิธีการพัฒนา กำหนดให้ใช้วิธีการที่หลากหลาย ตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้ การสอนแนะโดยครูพี่เลี้ยง การสอนแนะโดยผู้บริหาร การศึกษาด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การศึกษาด้วยกรณีตัวอย่าง การปฏิบัติจริง ฯลฯ ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้างานวิจัยต่าง ๆ ผู้วิจัยยังไม่พบการพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม สำหรับครูผู้ช่วย และยังไม่พบแนวทางปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลให้มาตรฐานการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มแตกต่างกันไป
จากประเด็นปัญหาและความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูอย่างเข้มและจากสภาพของโรงเรียนที่มีครูบรรจุใหม่เกือบทั้งหมดดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ผู้วิจัยในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จึงได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องและครูผู้ช่วยได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย ของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนขึ้น เพื่อสร้างรูปแบบฯ ที่มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีอรรถประโยชน์ และสามารถใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสถานศึกษาสังกัดอื่น ๆ ที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
แนวคิด ทฤษฎี และกรอบแนวคิดการวิจัย
แนวคิดและทฤษฎี ที่นำมาใช้ในการวิจัย ได้แก่ หลักการพัฒนาครู ของ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (2549, หน้า 14) มาประยุกต์ใช้ จำนวน 5 ข้อ ดังนี้ 1. การพัฒนาต้องเกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของครูผู้ช่วย 2. การพัฒนาต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มนโยบายของโรงเรียน และหน่วยงานต้นสังกัดกำหนด 3. หลักการการพัฒนาที่มีวิธีการที่หลากหลายเหมาะสม และยืดหยุ่น 4. การพัฒนาต้องสอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ที่ปฏิบัติที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน และ 5. การพัฒนาต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียน ในส่วนกระบวนการพัฒนาครู ได้เลือกกระบวนการของ แคสเตอร์ และจุง (Castetter and Young, 2000) ใช้หลักการมีส่วนร่วม การสอนแบบบูรณาการ จิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และการปฏิบัติจริง สรุปเป็นกรอบแนวคิดได้ดังนี้
แผนภาพ 8 แสดงกรอบแนวคิดการวิจัย

รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

การมีส่วนร่วม
หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตามวิธีการหลักเกณฑ์ของ คณะกรรมการกลางเทศบาล
วิเคราะห์เอกสาร, พ.ร.บ. กฎหมายต่าง ๆ
การบูรการ
เอกสารหมายเลข 1
เอกสารการมอบหมายงานครูผู้ช่วย
คู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย

เอกสารหมายเลข 4
เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ และอบรมเชิงปฏิบัติการ
กรอบแนวคิดการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
เอกสารหมายเลข 2
เอกสารชุดฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการ
เอกสารหมายเลข 3
สื่อ CD-ความรู้สำหรับการศึกษาด้วยตนเอง















วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้ เพื่อสร้าง ทดลองและศึกษาผลการใช้ รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม
ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยแบ่งวิธีการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง รวม 9 ขั้นตอน คือ ช่วงที่ 1 การวิเคราะห์รูปแบบกระบวนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา มี 3 ขั้นตอน ช่วงที่ 2 การสร้างรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย มี 3 ขั้นตอน ช่วงที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย มีขั้นตอนเดียว และช่วงที่ 4 การประเมินประสิทธิภาพรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วยระยะเวลา 2 ปี
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ ครูผู้ช่วย จำนวน 12 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ในระหว่างปีการศึกษา 2550 – 2552
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ในระหว่างปีการศึกษา 2550 – 2552 ที่ได้จากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างตามวิธีดำเนินการวิจัยในแต่ละช่วงและแต่ละขั้นตอน เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้ มีทั้งหมด 4 ช่วง และ 9 ขั้นตอน
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หมายถึง แบบแผน ขั้นตอน วิธีการ การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม สำหรับครูผู้ช่วย ที่ออกแบบโดยใช้เทคนิควิธีการ เอกสารและสื่อประกอบที่หลากหลาย มีการบูรณาการอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงานในหน้าที่และงานนอกเหนือจากงานในหน้าที่ ทั้งลักษณะกลุ่มและรายบุคคล รวมทั้งการมีส่วนร่วมของครูผู้ช่วย ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการพัฒนา ปฏิบัติตามแผน และประเมินผล ยึดหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2549 รวบรวม เรียบเรียง และจัดทำเป็นคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
2. ครูผู้ช่วย หมายถึง ครูที่ผ่านการคัดเลือก สรรหา บรรจุ แต่งตั้ง เป็นครูผู้ช่วยของ โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ตาม
คำสั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนที่ 977/2550 เรื่อง การบรรจุแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ลงวันที่ 27 กันยายน 2552 จำนวน 5 คน และคำสั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ที่ 985/2550 เรื่อง การบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 27 กันยายน 2552 จำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 12 คน
3. โรงเรียน หมายถึง โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เดิมสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา ได้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกและแห่งเดียวของจังหวัดลำพูน เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
4. ประสิทธิภาพของรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หมายถึง ผลจากการประเมินรูปแบบฯ ด้านกระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ ดังนี้
4.1 ผลประเมินประสิทธิภาพในมิติของผลผลิตและผลลัพธ์ ได้แก่
4.1.1 มิติของผลผลิต คือ ครูผู้ช่วยทุกคนที่ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม มีคุณภาพตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.1.2 มิติของผลลัพธ์ คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นฐานของโรงเรียน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ต่อครูผู้ช่วย และความคิดเห็นต่อการแสดงผลงานครูเมื่อสิ้นระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
4.2 ผลจากการประเมินประสิทธิภาพในมิติของกระบวนการได้แก่ ความถูกต้องด้านเนื้อหาสาระ การมีส่วนร่วม ความเป็นไปได้ และมีประโยชน์ในการนำไปใช้ ของคู่มือของรูปแบบฯ ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และความพึงพอใจของครูผู้ช่วย ต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
5. คณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หมายถึง คณะบุคคลที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มจำนวน 3 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1 คน เป็นกรรมการ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งครู ที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแล การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประเมินผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนา ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย ของหลักเกณฑ์วิธีการกำหนดไว้
6. หลักสูตร หมายถึง หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม สำหรับผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วย ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2549
7. คู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย หมายถึง เอกสารที่จัดทำขึ้นสำหรับคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ครูพี่เลี้ยงและครูผู้ช่วย ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับครูผู้ช่วย ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ของหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน 2549 คือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เจคติ และบุคลิกลักษณะในการปฏิบัติวิชาชีพ ทั้งการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับวิชาชีพครู ผ่านเกณฑ์การประเมิน และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ประกอบด้วย สรุปสาระสำคัญและส่วนสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้ส่วนที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย เหตุผลและความจำเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย หลักเกณฑ์วิธีการ หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และคำสั่งแต่งตั้งครูพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาดูแลระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม วัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือ ขอบข่ายในการใช้ และคำนิยามศัพท์ ส่วนที่ 2 แนวคิดและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมฯ ประกอบด้วย การพัฒนาครู ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักการมีส่วนร่วม และการสอนแบบบูรณาการ ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์หลักสูตรและกระบวนการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย การวิเคราะห์หลักสูตรฯ และกำหนดจุดประสงค์แต่ละเนื้อหา วิธีการและขั้นตอนพัฒนาครูที่นำมาใช้ แผนภูมิกระบวนการ ส่วนที่ 4 การประเมินและรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย ปฏิทิน วิธีการ เครื่องมือ การประเมิน และการรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และส่วนที่ 5 เอกสารประกอบคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ประกอบด้วย เอกสารหมายเลข 1 เอกสารการมอบหมายงานครูผู้ช่วย เอกสารหมายเลข 2 เอกสารชุดฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการ เอกสารหมายเลข 3 สื่อ CD-ความรู้สำหรับการศึกษาด้วยตนเอง และเอกสารหมายเลข 4 เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ และอบรมเชิงปฏิบัติการ
8. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ของโรงเรียนนาทรายวิทยาคม หมายถึง นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นฐานของโรงเรียน ผู้บริหารหรือตัวแทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนและครู และคณะกรรมการชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ปีการศึกษา 2550 - 2552
เครื่องมือ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์อย่างมีโครงสร้าง แบบสังเกต แบบวิเคราะห์ข้อมูล แบบตรวจสอบรายการองค์ประกอบของรูปแบบ แบบประเมินสื่อการเรียนด้วยตนเอง แบบประเมินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม แบบสรุปและรายงานผลการดำเนินงาน กิจกรรมบูรณาการ แบบประเมินความสอดคล้อง
วิธีการรวบรวมข้อมูล สังเกต สัมภาษณ์ สอบถาม ตรวจสอบรายการ วิเคราะห์และลงข้อสรุป
การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติพื้นฐาน วิเคราะห์และลงข้อสรุป
สรุปผลวิจัย
1. รูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วยที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการและแนวคิด 2) วิธีการพัฒนามี 2 ลักษณะ คือ การฝึกงานในหน้าที่ และการฝึกนอกเหนือจากการฝึกงานในหน้าที่ 3) สื่อและเอกสารประกอบ 4) วิธีการและเครื่องมือ การประเมินและรายงานผล 5) คู่มือฯ โดยดำเนินการอย่างมีขั้นตอน และมีวิธีการพัฒนาและประเมินอย่างหลากหลาย และบูรณาการ มีการลงมือปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประเมินผล โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนา ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย ดังแผนภูมิ 1 แสดงกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มฯ
2. ผลการประเมินประสิทธิภาพ ของรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วมสำหรับครูผู้ช่วย ดังนี้
2.1 ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบฯ ในมิติของกระบวนการ พบว่า ครูผู้ช่วย และคณะกรรมการฯ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม อยู่ในระดับมากที่สุด
2.2 ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบฯ ในมิติของผลผลิตและผลลัพธ์ พบว่า ครูผู้ช่วยทั้ง 12 คน ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยมีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินทุกครั้ง และมีคะแนนความก้าวหน้าของการประเมินตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 8 ทั้งหมวดการปฏิบัติตนและหมวดการปฏิบัติงานและที่รวมกันเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อครูผู้ช่วย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ทั้งสองหมวดอยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจต่อการจัดแสดงผลงานอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จากครูผู้ช่วยและคณะกรรมการฯ สรุปได้ว่า มีอรรถประโยชน์ มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินคู่มือฯ จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน ในด้านเนื้อหาสาระฯ การมีส่วนร่วม ความเป็นไปได้ และประโยชน์ในการนำไปใช้ พบว่า มีค่าความสอดคล้อง (IOC) อยู่ในระหว่าง 0.85 – 1.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 0.7
คู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยการมีส่วนร่วมสำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย เหตุผลและความจำเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย วัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือ หลักเกณฑ์วิธีการ หลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และคำสั่งแต่งตั้งครูพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาดูแลระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ขอบข่ายในการใช้ และคำนิยามศัพท์
ส่วนที่ 2 แนวคิดและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมฯ ประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาวิชาชีพครู ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักการมีส่วนร่วม และการสอนแบบบูรณาการ
ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์หลักสูตรและกระบวนการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย การวิเคราะห์หลักสูตรฯ และกำหนดจุดประสงค์แต่ละเนื้อหา วิธีการและขั้นตอนพัฒนาครูที่นำมาใช้ และแผนภูมิกระบวนการ
ส่วนที่ 4 การประเมินและรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูผู้ช่วย ประกอบด้วย ปฏิทิน วิธีการ เครื่องมือ การประเมิน และการรายงานผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
ส่วนที่ 5 เอกสารประกอบคู่มือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ประกอบด้วย เอกสารหมายเลข 1 เอกสารการมอบหมายงานครูผู้ช่วย เอกสารหมายเลข 2 เอกสารชุดฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการ เอกสารหมายเลข 3 สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเอกสารหมายเลข 4 เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ และตารางการอบรมเชิงปฏิบัติการ

ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาทบทวนระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ว่าควรคงไว้ 2 ปี หรือควรปรับลดลง ซึ่งอาจดำเนินการในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนี้
1.1 คงระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปีไว้ โดยให้มีการประเมินครูผู้ช่วยอย่างต่อเนื่อง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละครั้ง ที่กำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ในปีถัดไป และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีเดียวกัน และสอดคล้องกับการปฏิบัติงานในแต่ละภาคการศึกษา
1.2 ลดระยะเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มลงเหลือ 1 ปี โดยให้มีการประเมินครูผู้ช่วยอย่างต่อเนื่อง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง รวม 2 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละครั้ง ที่กำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ในปีถัดไป และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีเดียวกัน และสอดคล้องกับการปฏิบัติงานในแต่ละภาคการศึกษา
2. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในส่วนของกรรมการที่มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถานศึกษา โดยขอเสนอให้เป็นกรรมการสถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติให้มากที่สุด
3. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาปรับเกณฑ์การตัดสินผลการประเมินครูผู้ช่วยให้สูงขึ้น โดยช่วงแรกอาจใช้เกณฑ์ตัดสินการผ่านร้อยละ 60 และช่วงหลังใช้เกณฑ์การตัดสินการเกณฑ์การผ่านร้อยละ 75
4. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ควรพิจารณาทบทวน วิเคราะห์ หรือบูรณาการ เนื้อหาตามหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ซึ่งมีอยู่ 2 องค์ประกอบ คือ หมวดที่ 1 การปฏิบัติตน และหมวด 2 คือ การปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับ สมรรถนะครู ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาครูให้มี วิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นต่อไป
ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้
1. การนำรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม โดยการมีส่วนร่วม สำหรับครูผู้ช่วย โรงเรียนนาทรายวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ไปประยุกต์ใช้นั้น ควรศึกษากระบวนการ ขั้นตอน วิธีการพัฒนา การประเมิน และสรุปรายงาน ให้ชัดเจน รวมทั้งสามารถปรับใช้ให้เข้ากับบริบท สภาพของแต่ละสถานศึกษา
2. การนำหน่วยฝึกปฏิบัติแบบบูรณาการตามรูปแบบฯ นี้ ไปประยุกต์ใช้ อาจนำเฉพาะแนวคิดวิธีการ ส่วนกิจกรรม อาจปรับเปลี่ยนไปตามสภาพบริบทของแต่ละโรงเรียน
ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยใช้กรอบแนวคิดของนักการศึกษาคนอื่น ๆ มากำหนดเป็นรูปแบบการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มบ้าง
2. ควรมีการศึกษา และเปรียบเทียบ การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับครูผู้ช่วย ด้วยกระบวนการวิจัย หรือ รูปแบบอื่น ๆ เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
3. ควรทำการศึกษาวิจัย เพื่อสรุปเป็นแนวปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มสำหรับครูผู้ช่วย เพื่อเสนอต่อหน่วยนโยบายต่อไป

บรรณานุกรม
โกวิท ประวาลพฤกษ์. (2542). พัฒนาการศึกษาแท้และแฟ้มพัฒนางาน การพัฒนาการศึกษา ตาม แนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรุงเทพฯ : บริษัทเดอะมาสเตอร์ กรุ๊ปแมแนจเม้นท์ จำกัด.
รุ่ง แก้วแดง. (2543). การศึกษากับกำลังอำนาจของชาติ. สกศ.

ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา และคณะ (2530). การวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูให้มี สมรรถภาพที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา. สืบค้นจาก http://library.uru.ac.th/dbresearch/images/L14.htm วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2550.
สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา. ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูและ บุคลากร ทาง การศึกษา ปี 2549 -2551. อัดสำเนาเย็บเล่ม, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
Castetter, W.B. and Young, I.P. (2000). The Human resource function in education
administration. (7 ed.) New Jersey : Prentice – Hall.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น