วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนถ่ายโอนฯ กรณีโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม

รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม
ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

A PROPOSED MODEL OF PARTICIPATIVE ADMINISTRATION IN BASIC EDUCATION INSTITUTION TRANSFERRED TO OFFICE OF LOCAL ADMINISTRATIVE ORGANIZATION

ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง
Dr. YONGYOUTH YABOONTHONG
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
วุฒิการศึกษา : ปริญญาเอก
สถานที่ติดต่อ : โรงเรียนนาทรายวิทยาคม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110
โทร 053-979628, 081-2874873, E-mail: nasai_1@nws.ac.th
ผู้ร่วมวิจัย : -
ปีที่ทำสำเร็จ : ปี พ.ศ. 2551
ประเด็นการวิจัย : การบริหารการเปลี่ยนแปลง (การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
ลักษณะการวิจัย : วิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
ประเภทการวิจัย : การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR)
การนำเสนอเวทีวิชาการอื่น: การประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 13
แหล่งเงินทุน : มหาวิทยาลัยนเรศวร งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2552

ความเป็นมาของการวิจัย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 16 ฉบับ และด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยครั้งใหญ่ (โกวิทย์ พวงงาม, ม.ป.ป., หน้า 1) นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ยังได้มีการกำหนดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักใน การจัดบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนนี้เองเป็นหลักประกันว่ารัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก โดยใช้การกระจายอำนาจเป็นกลไกสำคัญ และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้มีการกำหนดมาตรา 283 อันเป็นการระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน และ การคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ(วุฒิสาร ตันไชย, 2551, หน้า 1) รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอภิวัฒน์ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คือ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) และคณะกรรมการฯได้จัดทำประกาศ แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 และประกาศใช้แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 จนปัจจุบัน ภารกิจกระจายอำนาจของไทยไม่ก้าวหน้ามากนัก เนื่องจากบรรดาเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้านการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การถ่ายโอนการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2548 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 กำหนดเกณฑ์การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกำหนดสัดส่วนการขอรับถ่ายโอนสถานศึกษา แยกตามระดับการศึกษาและตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีมติให้โอนสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มติดังกล่าวสวนทางกับความคิดเห็นของสมาคมครูและผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่จึงได้รวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ประท้วงดังกล่าว จึงเพิ่มเติมเงื่อนไขการถ่ายโอนว่าการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของสถานศึกษา ที่จะต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อหาทางออกที่จะลดผลกระทบ โดยให้เป็นไปในลักษณะของการสมัครใจใน 2 ระดับ คือ สมัครใจในส่วนสถาบัน คือ โรงเรียน และการสมัครใจของผู้บริหารโรงเรียนและครู หากทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เต็มใจที่จะรับ และมีความพร้อมที่จะรับ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นว่าพร้อมรับ และโรงเรียนพร้อมที่จะถ่ายโอนไปจึงจะสามารถถ่ายโอนได้ (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) และจัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ การถ่ายโอนจะต้องมีการระบุชื่อโรงเรียนที่ชัดเจน และต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยในปีการศึกษา 2549 จะต้องยื่นเรื่องขอรับการประเมินภายใน 120 วันก่อนวันเปิดภาคเรียน คือ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2549 (กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, 11 มกราคม 2549) ในส่วนของการแสดงความสมัครใจให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549, 13 มกราคม 2549) และหลังจากนั้น วันที่ 17 มกราคม 2549 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) โดยในหมวด 3 (1) กำหนดให้รับข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นเป็นสมาชิก และมาตรา 70 (1) คงสิทธิการเป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้เช่นเดิม (พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549, 17 มกราคม 2549, หน้า 8)
ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีกระบวนการหาความสมัครใจของโรงเรียนและการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะมีการปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็มีการถ่ายโอนโรงเรียนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อถึงสิ้นปี โรงเรียนในบัญชี 1 โอนไปทั้งสิ้น 70 โรงเรียน จากนั้นต่อมาก็มีการถ่ายโอนมาเรื่อย ๆ เมื่อมีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ปัญหาที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่อง คุณภาพและมาตรฐานทั้งในส่วนของหลักสูตร และในการจัดการเรียนการสอน สโรช สันตะพันธุ์ ได้กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนได้ผ่านกระบวนการถ่ายโอนมาสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วระยะหนึ่ง ควรจัดให้มีการประเมินผลการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สโรช สันตะพันธุ์, 2549) โดยอาจมอบให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มจัดการศึกษา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้แก่ราษฎรในท้องถิ่น (กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, ม.ป.ป.) แต่เนื่องจากเทศบาลในขณะนั้นมีงบประมาณน้อย ทำให้การจัดการศึกษาของเทศบาลไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จึงได้โอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลกลับคืนให้กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีประสบการณ์จัดการศึกษาโรงเรียนประชาบาลนอกเขตเทศบาลเป็นระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – 2523 ก่อนที่จะมีการโอนโรงเรียนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะในระดับช่วงชั้นที่ 3-4
สถานศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติที่สำคัญที่สุด เมื่อถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะต้องมีการบริหารและจัดการให้เกิดการขับเคลื่อนไปภายใต้ภาวการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการบริหารการจัดการของสถานศึกษาใหม่ ทั้งรูปแบบ แนวทางให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ ความเป็นนิติบุคคลที่สิ้นสุดลง คำนึงถึงคุณค่าความมีประสิทธิภาพและคุณภาพของสถานศึกษา รวมทั้งความเป็นท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการทางการศึกษาเป็นสำคัญ แนวทางในการบริหารสถานศึกษาที่มุ่งสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา และหลักการในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 2549 หน้า 13) ซึ่ง ชาญชัย อาจินสมาจาร (2548, หน้า 26) กล่าวว่า ประสิทธิผลของการศึกษา เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของรูปแบบการบริหาร คุณลักษณะขององค์การ และบรรยากาศการทำงานแบบมืออาชีพ ประสิทธิผลทางการศึกษาสูงสุด ต้องการรูปแบบการบริหารและบรรยากาศในองค์การที่เหมาะสม ดังนั้นรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต้องการค้นหา

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อตกลงเบื้องต้น
ในการวิจัยครั้งนี้ ชื่อของสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด ครูและบุคลากรในสถานศึกษา บุคลากรในหน่วยงานต้นสังกัด หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และเครือข่ายสถานศึกษาที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นชื่อสมมติทั้งสิ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ได้ในภายหลัง

ระเบียบวิธีวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ แบบการศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research - PAR) ของโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม ซึ่งก่อนการถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุวรรณภูมิ เขต 2 ต่อมาได้ถ่ายโอนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุวรรณภูมิ มีวิธีการศึกษา 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพและความต้องการ เกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการศึกษาเอกสาร ศึกษาสภาพการบริหารสถานศึกษาก่อนการถ่ายโอนฯ การสังเกต จัดประชุมระดมความคิด (Brain Storming Meetings) การใช้เทคนิค SWOT Analysis การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาจำนวน 300 คน
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฎี เกณฑ์การคัดเลือก และเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาดีเด่น และงานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลในขั้นตอนที่ 1 ผสมผสานกับการศึกษารูปแบบโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ 3 รูปแบบ จำนวน 12 โรงเรียน วิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อร่างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม และให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 15 คน ตรวจสอบและพิจารณาความเป็นไปได้ของร่างรูปแบบฯ
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ ศึกษาผลการใช้ และถอดรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้
3.1 ขั้นเตรียมการ โดยการสร้างความตระหนัก แก่ คณะครู ชุมชน นักเรียน ผู้ปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน และเตรียมพัฒนาครูและบุคลากร เพื่อการสร้างองค์การใหม่ การสรรหาบรรจุแต่งตั้งครูใหม่ โดยผู้นำต้องใช้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง การจัดองค์กรโครงสร้างใหม่ การจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี แผนดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. การสร้างคู่มือคุณภาพ การสร้างคู่มือการปฏิบัติงาน และการฝึกอบรมก่อนการดำเนินงาน ระหว่างการดำเนินการและหลังดำเนินการ ตลอดจนการประเมินผล
3.2 ขั้นตอนการดำเนินการ โดยทั้ง 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา ชุมชนและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและเป็นระบบโดยใช้การบริหารคุณภาพ PDCA การมีส่วนร่วม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อให้แก้ไขปัญหาและใช้ ICT เพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
3.3 ขั้นตอนการศึกษาผลการใช้รูปแบบ และถอดรูปแบบฯ โดย
3.3.1 ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การสังเกต ประชุมระดมพลังสมอง การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนศึกษาจากบันทึกการประชุมต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ข้อมูลแบบสามเส้าแล้วสรุป
3.3.2 ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยสร้างแบบสอบถาม และนำไปสอบถามผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 328 คน จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และร้อยละ โดยใช้คอมพิวเตอร์

สรุปผลวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

1. ผลจากการศึกษาสภาพของโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด 130 กิโลเมตร เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ถ่ายโอนภารกิจการจัดการศึกษาไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุวรรณภูมิ วันที่ 15 มกราคม 2550 ถ่ายโอนบุคลากรและทรัพย์สินเสร็จสิ้น เมื่อเดือนกันยายน 2550 ก่อนการถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีการศึกษา 2549 มีครู 12 คน รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน 231 คน โรงเรียนประสบปัญหาทั้งในด้านจำนวนครูตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. และขาดแคลนครูตามวิชาเอก อาคารเรียน อาคารประกอบ สื่อการเรียนการสอน งบประมาณ ไม่เพียงพอ รวมทั้งผลการประเมินคุณภาพทางวิชาการของนักเรียนยังไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ความเชื่อถือและการยอมรับจากผู้ปกครองนักเรียนลดลงเรื่อยมาจากตัวบ่งชี้ที่สำคัญคือ จำนวนนักเรียนลดลงประมาณครึ่งสุวรรณภูมิ ในระยะ 5 ปีย้อนหลัง คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และชุมชนจึงได้สมัครใจถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังกล่าว
2. การสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลจากการรวบรวมและศึกษาเอกสารแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่ เกี่ยวกับรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในช่วงชั้นที่ 3 -4 ทั้งของสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งได้วิเคราะห์รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเชิงประจักษ์ จากโรงเรียน 3 รูปแบบ ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารสถานศึกษา คือ สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน สถานศึกษา 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน และสถานศึกษาต้นแบบดีเด่นสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าโรงเรียนทั้ง 3 รูปแบบ มีการบริหารจัดการภาระงานเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การปฏิรูปการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยมุ่งผลประโยชน์สูงสุดให้เกิดแก่นักเรียน แล้วนำมาสังเคราะห์ และสร้างเป็นรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนถ่ายโอนฯ ที่ประกอบด้วย โครงสร้างการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม โครงสร้างการบริหารภายในสถานศึกษา คู่มือคุณภาพ และคู่มือการปฏิบัติงาน และได้ตรวจสอบความเป็นไปได้จากผู้เชี่ยวชาญ ปรับปรุงแก้ไข และนำเสนออาจารย์ที่ปรึกษา
3. การทดลองและศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม ของโรงเรียนที่ถ่ายโอนฯ โดยการนำรูปแบบฯ จากขั้นตอนที่ 2 ไปทดลองและศึกษาผลการใช้ ที่โรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม เป็นระยะเวลา 1 ภาคเรียน ในระหว่างการทดลองใช้ร่างรูปแบฯ มีการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ และแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การประสานงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร และที่สำคัญ คือ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา มีการประเมินผลระหว่างการใช้ หาจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนา แก้ไข ปรับปรุง โดยการถอดประสบการณ์ร่วมกัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองใช้มีการประเมินรูปแบบฯ และหาประสิทธิผลของการบริหารสถานศึกษา ปรากฏผล ดังนี้
โครงสร้างการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามภาพ 1 ประกอบด้วย การสายบังคับบัญชาจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จนถึงสถานศึกษา รวมทั้งสายความสัมพันธ์หรือสายแสดงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน เริ่มจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้มีปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนสุวรรณภูมิ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมาย (พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด, 2546, มาตรา 39,หน้า 13) มีรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลทางด้านการศึกษา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองปลัดฯ คนใดคนสุวรรณภูมิเป็นผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา และผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รับผิดชอบ กำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัด
สายสัมพันธ์และสายความร่วมมือ ด้านการบริหารจัดการ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจในความรับผิดชอบ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการบริหารงานบุคคล การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะส่วนแผนและงบประมาณทางการศึกษาท้องถิ่น สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมอื่น ๆ (ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา) กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่นจังหวัด สมาคมผู้บริหารโรงเรียนถ่ายโอนฯ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สายสัมพันธ์และสายความร่วมมือ ด้านวิชาการ ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายสถานศึกษา (เครือข่ายสถานศึกษา เครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดสุวรรณภูมิ) คณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนงานวิชาการระดับท้องถิ่น, ระดับกลุ่ม, ส่วนกลาง และส่วนจังหวัด คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการ ของโรงเรียน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สายสัมพันธ์และสายความร่วมมือ ด้านการบริหารจัดการในสถานศึกษา และการสนับสนุนทรัพยากร ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชมรมผู้ปกครองนักเรียน และครู ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียน ชมรมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน โรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม
ในส่วนของการบริหารภายในสถานศึกษาซึ่งความเป็นนิติบุคคลได้สิ้นสุดลงจากผลของการถ่ายโอนฯ มีโครงสร้างการบริหารภายในสถานศึกษา ดังภาพ 2 เริ่มจากผู้อำนวยการสถานศึกษา กลุ่มบริหารงาน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบริหารงานวิชาการ กลุ่มบริหารงานแผนงานและงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มบริหารงานทั่วไป กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียน และกลุ่มบริหารงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ละกลุ่มบริหารงาน มีกลุ่มงานภายในรวม 18 กลุ่มงาน คือ กลุ่มบริหารงานวิชาการ มี 4 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานแผนและงบประมาณ มี 2 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานบุคคล มี 2 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียน มี 3 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานบริหารงานทั่วไป มี 4 กลุ่มงาน กลุ่มบริหารงานเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร มี 3 กลุ่มงาน
โครงสร้างการบริหารงานภายในของแต่ละกลุ่มบริหารงาน 6 กลุ่มบริหารงาน กลุ่มบริหารงานวิชาการ มี 4 กลุ่มงาน 13 งาน กลุ่มบริหารงานแผนและงบประมาณ มี 2 กลุ่มงาน 8 งาน กลุ่มบริหารงานบุคคล มี 2 กลุ่มงาน 7 งาน กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียน มี 3 กลุ่มงาน 14 งาน กลุ่มบริหารงานบริหารงานทั่วไป มี 4 กลุ่มงาน 12 งาน กลุ่มบริหารงานเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร มี 3 กลุ่มงาน 7 งานและสายความสัมพันธ์หรือสายแสดงความร่วมมือ กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน และสายความสัมพันธ์หรือสายแสดงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน โดยการดำเนินการของ กลุ่มบริหารงาน และกลุ่มงานใช้กระบวนการบริหารคุณภาพ P-D-C-A และหลักการมีส่วนร่วม
คู่มือคุณภาพ (Quality Manual) เป็นเอกสารที่กำหนดนโยบายคุณภาพ วิธีดำเนินการและวิธีปฏิบัติโดยทั่วไป ใช้เป็นเอกสารหลักในการอธิบายระบบ และบอกถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่คุณภาพ เพื่อให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนได้เข้าใจในนโยบายการจัดการ และการนำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงาน สร้างความมั่นใจ และเข้าใจต่อภาระหน้าที่ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อการประเมินภายใน และการประเมินจากภายนอก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตลอดทั้งหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ เนื้อหาในเอกสารประกอบด้วย การแนะนำ วัตถุประสงค์และขอบเขตของคู่มือคุณภาพ ภาพรวมของโรงเรียน ลักษณะเฉพาะของโรงเรียนถ่ายโอนฯ การบริหารองค์กร การประกาศนโยบายคุณภาพ โครงสร้างการบริหารงานสถานศึกษา โครงสร้างการบริหารกลุ่มบริหารงาน 6 กลุ่ม ความสำคัญ นโยบายวัตถุประสงค์ แนวดำเนินการ บทบาทหน้าของผู้เกี่ยวข้อง ระบบประกันคุณภาพ การบริหารทรัพยากรโรงเรียนถ่ายโอนฯ การนิเทศ กำกับ ติดตามและการควบคุม การสร้างระบบกลไกการควบคุมคุณภาพการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและคุณลักษณะอย่างเป็นระบบวิธีการปฏิบัติคุณภาพโดยทั่วไปวิธีการปฏิบัติในการควบคุมกระบวนการบริหารหลักสูตรการประเมินตนเองของข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนข้อกำหนดเพื่อความก้าวหน้า การประเมินและค้นหาความต้องการของผู้รับบริการ เทคนิควิธีสู่ความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษาโรงเรียนถ่ายโอนฯ หลักการบริหาร 5 ขั้นตอน และเอกสารแนบท้าย

คู่มือการปฏิบัติงาน (Procedure / Work Manual) เป็นเอกสารที่เปรียบเสมือนแผนที่บอกเส้นทางการทำงานที่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของกระบวนการ ระบุถึงขั้นตอนและรายละเอียดของกระบวนการต่าง ๆ ขององค์กรและวิธีควบคุมกระบวนการนั้น จัดทำขึ้นสำหรับลักษณะงานที่ซับซ้อน มีหลายขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับคนหลายคน และสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน วัตถุประสงค์ของการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานในปัจจุบันเป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานทราบและเข้าใจว่าควรทำอะไรก่อนและหลังผู้ปฏิบัติงานทราบว่าควรปฏิบัติงานอย่างไร เมื่อใด กับใคร เพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้องกับนโยบาย วิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายขององค์กร เพื่อให้ผู้บริหารติดตามงานได้ทุกขั้นตอน เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรม ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการทำงาน และใช้เป็นสื่อในการประสานงาน โครงสร้างของคู่มือการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ขอบเขต คำจำกัดความ ความรับผิดชอบ ระเบียบปฏิบัติ (ขั้นตอน) เอกสารอ้างอิง แบบฟอร์มที่ใช้ และเอกสารบันทึก
กระบวนการบริหารรูปแบบฯ
ในการบริหารสถานศึกษาตามรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังแผนภูมิ 3 ผู้บริหารจะต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ประสานงานทั้งภายในภายนอก สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และเป็นที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และกองอื่น ๆ ในการกำหนดวิธีปฏิบัติงานให้สอดคล้องกันตรงกัน และถูกต้องตามระเบียบฯ มีการจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนดำเนินงานปีงบประมาณ การบริหารทีมงาน การใช้วงจรคุณภาพ PDCA ของเดมมิ่ง ตรวจสอบการทำงานของทุกภาระงาน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากผลของการโอนสถานศึกษาเป็นเหตุให้คณะครูทั้งหมดที่มีอยู่เดิมก่อนการถ่ายโอน 11 คนย้ายออก 10 คน เหลือที่โอนย้ายไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน นักการ 1 คน และผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ทำให้ต้องมีการสรรหาและคัดเลือกคณะครูใหม่ ให้ครบตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. และตามวิชาเอก จึงได้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตลอดปี ตามเป้าหมายของแผนกลยุทธ์โดยนำครูอัตราจ้างเก่าที่เคยทำงานที่โรงเรียนนี้และได้รับการบรรจุแต่งตั้ง (โดยกรณีพิเศษ) เป็นข้าราชการครูผู้ช่วย มาเป็นหัวหน้าทีมงานและบริหารทีมงาน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้การทำงานมีคุณภาพ มีความชัดเจนต่อเนื่อง และมีคุณภาพบรรลุผลสำเร็จตามขอบข่ายภาระงาน ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น สามารถสอบเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้น และได้รับรางวัลในระดับประเทศและระดับต่างๆ ขณะที่สถานศึกษามีคุณภาพตามมาตรฐานของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการพัฒนาตามความต้องการของชุมชนและองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และได้ขยายเปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพในปีการศึกษาต่อไป


สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
สรุปผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม พบว่า โครงสร้าง การบริหารสถานศึกษา มีความเหมาะสมกับขนาด จำนวนนักเรียน ระดับการศึกษา มีความคล่องตัว มุ่งสู่คุณภาพ ประสานภายในและภายนอกเป็นอย่างดี มีกลุ่มบริหารงานที่เหมาะสมกับความจำเป็นของโรงเรียนถ่ายโอนฯ สภาพบริบทของโรงเรียนที่ต้องพัฒนาในทุกด้าน และในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนเป็นอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ แคมป์ และคณะ (Camp and Others, 1967, pp. 96 – 129) สุทธิพงศ์ ยงค์กมล (2543 , บทความ) คู่มือคุณภาพ และคู่มือการปฏิบัติงาน มีอรรถประโยชน์ ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด เหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียนที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุวรรณภูมิ ทั้งนี้เพราะครูซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ได้ร่วมกันสร้าง พัฒนา ทดลองใช้ เพื่อเป็นทิศทางและแนวทางในการปฏิบัติงาน ได้ร่วมกันแก้ไขปรับปรุงคู่มือคุณภาพและคู่มือการปฏิบัติงานด้วยตนเอง จนสามารถการทำงานในแต่ละด้านมีประสิทธิผล ที่เห็นได้ชัดเจน คือ งานของกลุ่มบริหารงานแผนและงบประมาณ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management) การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ตลอดจนการประกันคุณภาพการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูประบบราชการแนวใหม่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2549, หน้า 3 - 82) การประเมินประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาที่เกิดขึ้น ของโรงเรียนใน 6 มิติ คือ ความสำเร็จของโรงเรียน ผลประโยชน์ด้านการเงินของโรงเรียน ผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของโรงเรียน ความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ประกอบด้วย นักเรียน ชุมชน และผู้ปกครองนักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายผลที่มีต่อสังคมและชุมชนในการจัดการศึกษาของโรงเรียนพบว่า ผลประโยชน์ด้านการเงินของโรงเรียน อยู่ในระดับ มากที่สุด นอกนั้นอยู่ในระดับมากสอดคล้องกับงานวิจัยของสำนักผู้ราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 1 – 12 และ กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (บทสรุปสำหรับผู้บริหาร, 2550, หน้า ค)
ข้อเสนอแนะ รูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมฯ นี้ เป็นรูปแบบที่สร้างและใช้โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนท้องถิ่นวิทยาคม ที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวของจังหวัด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาสถานศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นฐานในลักษณะของการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับรูปแบบการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วมนี้ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาและพัฒนาได้อย่างตรงประเด็น รวมทั้งหากจะนำรูปแบบนี้ไปใช้ กับโรงเรียนถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ควรพิจารณาให้ความสำคัญในด้านบุคลากรและคณะทำงานเพราะถ้าครูและบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานมากแล้ว อาจจะต้องเพิ่มระดับมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น นอกจากนั้นอาจต้องปรับวิธีการทำงาน ในคู่มือการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งด้วย และผู้ที่นำไปใช้ต้องคอยดูแล กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจากการวิจัย นี้พบว่า ผู้บริหารและแกนนำ รวมทั้งคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการพบปะพูดคุย ประชุม ปรึกษาหารือ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และมีการถอดประสบการณ์ประจำวัน ซึ่งจะทำให้การใช้รูปแบบนี้มีประสิทธิภาพ





บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 พร้อมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547. (1 ตุลาคม 2547). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (พิเศษ 59 ก).
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549. (11 มกราคม 2549).123 (3 ก) .หน้า 1-3
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. (ม.ป.ป.). สูจิบัตรมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น 2550. กรุงเทพฯ: (ม.ป.ท.)
โกวิทย์ พวงงาม. (ม.ป.ป.). ความคืบหน้าของการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทิศทางที่ ควรจะเป็นไปในอนาคต. สืบค้นเมือ 10 เมษายน 2548, จาก http://www.local.moi.go.th/webst/article2.pdf
ชาญชัย อาจินสมาจาร. (2548). สู่ทิศทางใหม่ของการบริหารการศึกษา. กรุงเทพฯ: ก้าวใหม่.
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549 (17 มกราคม 2549) ราชกิจจานุเบกษา. 123 (4 ก). หน้า 8.
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2546. (4 พฤศจิกายน 2546). ราชกิจจานุเบกษา .เล่ม 120 ตอน 109 ก.
หน้า 5 – 20.
วุฒิสาร ตันไชย. (2551). ทิศทางการปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550. ค้นคืน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/35389/1.
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2549). การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี. ค้นคืนเมื่อ 1 ธันวาคม 2549 จาก http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main31.htm).
สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัด สำนัก นายกรัฐมนตรี (2545). คู่มือปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัด สำนัก นายกรัฐมนตรี (2549). คู่มือการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.). (2549). “การพัฒนาคุณภาพการบริหาร จัดการภาครัฐ เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ”. กรุงเทพฯ: ภารกิจการบริหารการ เปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
สำนักผู้ราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 1 – 12 และ กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2550). การถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. อัดสำเนา. ม.ป.ท.
สุทธิพงศ์ ยงค์กมล. (2543). การวิเคราะห์ปัจจัยที่สงผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน. วิทยานิพนธ์ ค.ด., (การบริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร.
Camp, R.F. and other. (1967). Introduction Education Administration. Boston: Allyn and Bacon.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น